R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.29 การโฆษณาเครื่องสำอาง (Cosmetics Advertising) อัปเดทล่าสุดปี พ.ศ.2567
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ขายดีย่อมต้องมีการโฆษณา ซึ่งเป็นกลยุทธหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ โดยมีวิธีการหลากหลายรูปแบบ ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ เช่น Facebook, Tiktok, Google, Instagram รวมไปถึงช่องทางการขายสินค้าออนไลน์อย่าง Shoppee, Lazada, Konvy เป็นต้น ซึ่งการที่จะโฆษณาเครื่องสำอางได้นั้นก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการโฆษณาเครื่องสำอาง และปัจจุบันทางกองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายได้มีการปรับปรุงคู่มือการโฆษณา
เครื่องสำอางดังกล่าวให้มีความทันสมัยและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทาง TNP จึงขอแบ่งปันข้อมูลสำคัญสำหรับทำแบรนด์เครื่องสำอางให้รู้กัน
เหตุผลที่ต้องมีกฎหมายการโฆษณาเครื่องสำอางนั้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ถูกปกปิด บิดเบือน หรือซ่อนเร้นไว้ ซึ่งในบางครั้งการได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ก็อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด ถูกเอาเปรียบ หรือเกิดอันตรายจากการ ใช้ผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งการโฆษณาเครื่องสำอางในปัจจุบันทางภาครัฐไม่ได้กำหนดให้ผู้ทำการโฆษณาต้องขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐก่อนการโฆษณา แต่ผู้โฆษณาหรือผู้เกี่ยวข้องกับการโฆษณาต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยข้อความที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง และเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ การใช้ข้อความที่สื่อถึงคุณสมบัติหรือสรรพคุณของเครื่องสำอาง เป็นต้น ควรมีเอกสารทางวิชาการ วิธีการและผลการทดสอบ เพื่อสนับสนุนการโฆษณาซึ่งผู้ทำโฆษณาสามารถศึกษาแนวทางการโฆษณา จากคู่มือการโฆษณาเครื่องสำอางฉบับปรับปรุง พ.ศ.2567
พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ได้นิยามความหมายของคำต่อไปนี้ ดังนี้
ข้อความ (Statement) หมายความรวมถึง การกระทำให้ปรากฎด้วยตัวอักษร ภาพ ภาพยนตร์ แสง เสียง เครื่องหมายหรือการกระทำอย่างใด ๆ ที่ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้
โฆษณา (Advertising) หมายความว่าการกระทำไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า
สื่อโฆษณา (Advertising media) หมายความว่าสิ่งที่ใช้เป็นสื่อในการโฆษณา เช่น หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือป้าย
โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาเครื่องสำอางมีดังนี้
หมวด 6 การโฆษณา : มาตรา 41, มาตรา 42, มาตรา 43, มาตรา 44, มาตรา 45, มาตรา 46
หมวด 9 บทกำหนดโทษ : มาตรา 84, มาตรา 85, มาตรา 88
แนวทางการโฆษณาเครื่องสำอางจะช่วยให้การทำแบรนด์เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ใช้กล่าวอ้างได้แบบถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เกินขอบข่ายความเป็นเครื่องสำอาง และไม่ก่อให้เกิดความสับสนในผู้บริโภค ซึ่งแบ่งออกเป็น 22 กลุ่มเครื่องสำอาง ดังนี้
ข้อความที่ใช้ได้ : Whitening, Lightening, Brightening, แลดูกระจ่างใส, เมลาสม่าแลดูจางลง, รอยดำแลดูจางลง
พร้อมแสดงข้อความที่มีความหมายทำให้เข้าใจว่า เครื่องสำอางไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสีผิวตามธรรมชาติของแต่ละบุคคลได้ และการโฆษณาที่มีการอ้างอิงผลการศึกษา/ผลการทดสอบ หรือทดลองจากห้องปฏิบัติการขององค์กรใด ๆ ต้องแสดงข้อความที่มีความหมายทำให้เข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า ผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละบุคคล
ข้อความต้องห้าม : ขาวไวกว่าฉีด, ลดการสร้างเม็ดสีผิว, ยับยั้งเอนไซม์ Tyrosinase, ป้องกันหรือรักษาฝ้า
ห้ามแสดงข้อความที่สื่อความหมายถึงประสิทธิภาพของเครื่องสำอาง ว่าสามารถเปลี่ยนแปลง หรือทำให้สีผิวขาวขึ้นมากกว่าหรือแตกต่างจากสีผิวเดิมตามธรรมชาติหรือใช้ข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน
ข้อความที่ใช้ได้ : ช่วยลดเลือนริ้วรอย, ให้ผิวแลดูอ่อนเยาว์, มีสารแอนติออกซิแดนท์ (หน้า 23)
พร้อมแสดงข้อความที่ทำให้เข้าใจได้ว่าผู้ใช้จะได้รับผลในการใช้ในช่วงเวลาเมื่อใช้เครื่องสำอางเท่านั้น และผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละบุคคล ผลิตภัณฑ์ปกปิดริ้วรอย เช่น กลุ่มรองพื้น (Foundation) หรือคอนซีลเลอร์ (Concealer) ต้องแสดงข้อความที่ทำให้เข้าใจได้ว่าสามารถปกปิดริ้วรอยได้ในขณะใช้เท่านั้น
ข้อความต้องห้าม : ลบริ้วรอย, ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ, กระตุ้นสารคอลลาเจน, เสริมสร้างคอลลาเจนขึ้นใหม่, เร่งซ่อมแซมเซลล์ผิวที่ถูกทำลาย, ชะลอการเสื่อมสภาพของผิว, ป้องกันการเกิดริ้วรอยใหม่และริ้วรอยจากความเครียดและมลพิษ, กระตุ้นการเกิดใหม่ของเซลล์ผิว, ช่วยทำให้กระบวนการเกิดริ้วรอยช้าลง, ต้านการเกิดริ้วรอยบวมช้ำ, ชะลอการทำงานของเอนไซม์ MMP, ผิวเต่งตึงเสมือนยิงเลเซอร์
ห้ามใช้ข้อความหรือภาพที่สื่อความหมายถึง ประสิทธิภาพในการป้องกัน หรือการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกระบวนการเสื่อมสภาพ อันเนื่องจากอายุที่มากขึ้น
ข้อความที่ใช้ได้ : สูตรสำหรับผิวเป็นสิว, เครื่องสำอางสำหรับผิวมัน, เครื่องสำอางสำหรับผิวที่เป็นสิว, แอนติแอคเน่ (ห้ามแปล)
ควรใช้ข้อความที่สื่อให้เข้าใจว่าเป็นเครื่องสำอางที่มีสูตรสำหรับผิวที่เป็นสิว หรือสูตรที่มีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดสำหรับผู้ที่มีปัญหาผิวมัน
ข้อความต้องห้าม : สิว, ลดสิว, รักษาสิว/ป้องกันหรือลดอาการอักเสบของสิว, จบทุกปัญหาสิว, ฆ่าเชื้อสิว, ลดการเกิดสิว
ห้ามใช้ข้อความหรือภาพที่สื่อความหมายถึงประสิทธิภาพในการรักษาสิว หรือลดการอักเสบของสิว
ข้อความที่ใช้ได้ : ช่วยให้ผิวหน้า หรือผิวกายให้ดูกระชับอย่างเป็นธรรมชาติ ตามโครงร่างธรรมชาติของแต่ละบุคคล เป็นต้น
การโฆษณาต้องสื่อถึงวัตถุประสงค์ในการใช้ที่มีจุดมุ่งหมายสำหรับช่วยปรับสภาพผิวให้ดูดี
ข้อความต้องห้าม : เพิ่มการเผาผลาญ, ลดการสะสมของไขมัน, เพิ่มการไหลเวียนของระบบเลือด, ลดขนาดของเอว, เพิ่มหรือลดขนาดของทรวงอก, ลดผิวเปลือกส้ม, สลายไขมัน, ยกกระชับ ปรับรูปหน้าเรียว, กระชับสัดส่วน
ห้ามใช้ข้อความหรือภาพที่สื่อความหมายถึงประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน หรือโครงสร้างของร่างกาย
ข้อความที่ใช้ได้ : เสริมการผลัดเซลล์ผิว, ช่วยให้ผิวนุ่ม, ผิวดูเรียบเนียน, ผิวดูกระจ่างใส
ข้อความโฆษณาต้องสื่อความหมายทำให้เข้าใจว่าเครื่องสำอางมีสรรพคุณเกี่ยวกับการปรับสภาพผิวให้ดูดีขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารที่เสริมการผลัดเซลล์ผิว (Chemical exfoliation เช่น AHA เป็นต้น) และ/หรือสารขัดผิว (Physical exfo-liation เช่น Scrub beads เป็นต้น)
ข้อความต้องห้าม : ลอกผิวใส, กระตุ้น/เสริมการสร้างผิวใหม่หรือคอลลาเจน, ช่วยลดการเกิดสิว ฝ้า กระ, ทำให้ผิวขาวใสมากกว่าเดิม, แค่ขัด ก็ขาวได้, สครับทำให้ไขมันใต้ผิวแตกตัว, สครับช่วยกระชับรูขุมขน
ห้ามใช้ข้อความหรือภาพที่สื่อความหมายถึงประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผิว
ข้อความที่ใช้ได้ : SPF50+ PA++++, UV Broad Spectrum, UV Protection, Anti-Bluelight, Anti-Pollution, Water Resistant
การแสดงค่าประสิทธิภาพการป้องกันรังสียูวีต้องระบุเฉพาะค่าประสิทธิภาพการป้องกันแสงแดดที่ได้จากการทดสอบเครื่องสำอางที่โฆษณา ข้อความโฆษณาควรให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงข้อควรปฏิบัติในการใช้เครื่องสำอางกลุ่มป้องกันแสงแดดอย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้รับผลในการใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วยข้อความที่ทำให้เข้าใจว่า ทาในปริมาณ 2 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตร ซึ่งประมาณเท่ากับ 1 ช้อนชา หรือสองข้อนิ้วมือ สำหรับทาหน้าและคอ ซึ่งอาจแบ่งทา 2 รอบ โดยทารอบละประมาณครึ่งช้อนชาหรือหนึ่งข้อนิ้วมือและทาอย่างทั่วถึงสม่ำเสมอก่อนออกสู่แสงแดดอย่างน้อย 15-30 นาทีเพื่อให้เครื่องสำอางยึดติดกับผิวหนัง หากออกสู่แสงแดดหรือมีกิจกรรมกลางแสงแดดเป็นเวลานานให้ทาซ้ำทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง เพื่อการป้องกัน แสงแดดที่มีประสิทธิภาพต่อเนื่อง และการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดจะช่วยป้องกันแสงแดดอันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดฝ้าแดด
ข้อความต้องห้าม : UV Block, ป้องกันแสงแดดได้ยาวนาน โดยไม่ต้องทาซ้ำ, ป้องกันอันตรายจากรังสียูวีได้100%, เมื่อทาผิวแล้วผลิตภัณฑ์ทนต่อการเช็ดถูหรือ ไม่ละลายออกมากับเหงื่อ
กรณีที่ไม่มีผลการทดสอบ หรือมีผลการทดสอบได้ ค่า SPF ต่ำกว่า 6 ไม่ให้แสดงคำว่า SPF หรือการ แสดงข้อความใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดด
ข้อความที่ใช้ได้ : ใช้ทำความสะอาด, ชำระล้างสิ่งสกปรกซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของกลิ่นกาย, ช่วยแอนติแบคทีเรีย, Anti-bac, Anti-bacterial (ห้ามแปลและต้องมีผลทดสอบ)
ข้อความโฆษณาต้องสื่อความหมายทำให้เข้าใจว่าเครื่องสำอางมีสรรพคุณหลักในการทำความสะอาด และมีจุดประสงค์รองในการลดการสะสมแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหนึ่งของกลิ่นกายได้
ข้อความต้องห้าม : ระงับหรือยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราที่ผิวหนัง, ฆ่าเชื้อโรค, Kill/Inhibit
ห้ามใช้ข้อความหรือภาพที่สื่อความหมายถึงประสิทธิภาพในการฆ่า/กำจัด/ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส หรือเชื้ออื่น ๆ ซึ่งเป็น สรรพคุณทางยา ห้ามระบุชื่อเฉพาะของเชื้อหรือภาพที่สื่อให้เข้าใจว่าเป็นเชื้อ ห้ามระบุภาพ สัญลักษณ์ เครื่องหมาย ที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในความเป็นเครื่องสำอาง เช่น เครื่องหมายกาชาดเครื่องหมาย Rx เส้นคาดทับ ภาพที่สื่อถึงการฆ่าเชื้อ โล่ที่สื่อถึงการป้องกันเชื้อ เป็นต้น หรือข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน กรณีเครื่องหมายการค้า พิจารณาตามความเหมาะสม โดยต้องมีเครื่องหมาย ® หรือ TM ให้เห็นชัดเจน
ข้อความที่ใช้ได้ : Anti-Dandruff, ขจัดรังแค, ลดอาการคันหนังศีรษะที่เกิดจากรังแค
การใช้ข้อความหรือภาพโฆษณาต้องสื่อความหมายภายใต้ขอบข่ายของเครื่องสำอางในลักษณะของการทำความสะอาดเส้นผม หนังศีรษะ และสะเก็ดรังแค รวมทั้งลดการคันศีรษะที่เกิดจากรังแคในช่วงระยะเวลาที่ใช้ผลิตภัณฑ์
ข้อความต้องห้าม : กำจัด/ ยับยั้งอาการคันศีรษะ อันเนื่องมาจากเชื้อรา, รักษาโรคหนังศีรษะอักเสบ, ขจัดรังแคแบบถาวร
ห้ามใช้ข้อความหรือภาพที่สื่อความหมายถึงประสิทธิภาพในการกำจัด/ยับยั้งอาการคันศีรษะอันเนื่องมาจากเชื้อรา หรือการรักษาโรคหนังศีรษะอักเสบ หรือขจัดรังแคแบบถาวร หรือข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน
ข้อความที่ใช้ได้ : ทำให้ผมลื่น, หวีง่าย, ลดการขาดหลุดร่วงของเส้นผมที่มีสาเหตุจากเส้นผมพันกัน, ผมนุ่มลื่น, ผมดูมีน้ำหนัก
การโฆษณาต้องสื่อความหมายถึงสรรพคุณในการบำรุงดูแลเส้นผมหรือหนังศีรษะ
ข้อความต้องห้าม : ชโลมเส้นผมเพื่อกำจัดเหา, เร่งการงอกของเส้นผม, ปลูกผม, ปลูกหนวด เครา, ลดผมร่วง, ลดผมบาง, บำรุงรากผม, ลดผมหงอก กระตุ้นหรือเร่งการสร้างเส้นผมใหม่ให้ดกดำ
ห้ามใช้ข้อความหรือภาพโฆษณาที่สื่อความหมายถึงประสิทธิภาพว่าช่วยลดปัญหาผมหลุดร่วงโดยไม่ระบุสาเหตุ หรือระบุสาเหตุจากปัจจัยภายในร่างกาย หรือมีผลต่อการปรับวงจรการเจริญเติบโตของเส้นผม หรือหนังศีรษะ หรือลักษณะทางพันธุกรรม หรือสาเหตุอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากเส้นผมพันกัน ห้ามใช้ข้อความโฆษณาหรือภาพโฆษณาที่สื่อความหมายถึงการบำรุงลึกถึงรากผม หรือข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน
ข้อความที่ใช้ได้ : สีผมสวยเปล่งประกาย, ผมดูเงางาม, สีผมสวยชัด, ไม่ทำลายเส้นผม (เมื่อมีสารบำรุงผม)
การโฆษณาต้องสื่อให้เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ให้ผลลัพธ์ไม่เป็นการถาวร และควรแสดงข้อความให้ทดสอบการแพ้ของผลิตภัณฑ์ก่อนใช้ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าสารเคมีในผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ส่งผลกระทบต่อสภาพของเส้นผม หรืออาจมีการแพ้จากการสัมผัสได้
ข้อความต้องห้าม : ถาวร
ข้อความที่ใช้ได้ : ลดกลิ่นกายใต้วงแขน, ลดกลิ่นไม่พึงประสงค์, ระงับกลิ่นกายเป็นเวลาชั่วโมง (ต้องมีผลการทดสอบ), ลดเหงื่อ (มีสาร astringents)
การโฆษณาต้องสื่อความหมายเกี่ยวกับการลดกลิ่นกาย/ระงับกลิ่นกาย อันเนื่องมาจากเหงื่อใต้วงแขน เมื่อลดความเปียกชื้นใต้วงแขนได้ ปัญหากลิ่นกายอันไม่พึงประสงค์ส่วนหนึ่งจึงลดลงได้ ควรระบุข้อความโฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ว่า ผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับสภาวะของแต่ละบุคคล
ข้อความต้องห้าม : ระงับการเกิดเหงื่อ, ลดจำนวนต่อมเหงื่อ กำจัดขนคุด
ห้ามใช้ข้อความหรือภาพที่สื่อความหมายถึงประสิทธิภาพว่าช่วยระงับการเกิดเหงื่อ หรือมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของต่อมเหงื่อ
ข้อความที่ใช้ได้ : กลิ่นหอม, ให้ความรู้สึกสดชื่น
การโฆษณาต้องสื่อความหมายในลักษณะการให้กลิ่นหอมแก่ร่างกายตามกลิ่นของเครื่องสำอางนั้น ๆ
ข้อความต้องห้าม : ช่วยดึงดูดทางเพศ, ช่วยระงับความเครียด, ทำให้นอนหลับ, ช่วยไม่ให้อ่อนล้า/อ่อนเพลีย
ห้ามใช้ข้อความหรือภาพที่สื่อความหมายถึงประสิทธิภาพว่าช่วยดึงดูดทางเพศ หรือกระตุ้นฮอร์โมนทางเพศ หรือมีผลต่อจิตและประสาท
ข้อความที่ใช้ได้ : ล้างสีเล็บ, แต่งสีเล็บ, เคลือบและบำรุงเล็บ
การโฆษณาต้องสื่อความหมายในลักษณะที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด เปลี่ยนแปลง หรือตกแต่งรูปลักษณะของเล็บเพื่อดูแลให้อยู่ในสภาพที่ดี
ข้อความต้องห้าม : ช่วยเร่งให้เล็บงอกยาวเร็วขึ้น, ใช้รักษาเชื้อราที่เล็บ
ห้ามใช้ข้อความหรือภาพที่สื่อความหมายถึงประสิทธิภาพว่ามีผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย หรือรักษาโรค
ข้อความที่ใช้ได้ : ช่วยลดกลิ่นปาก, ช่วยให้ลมหายใจสะอาด, สดชื่น, เพื่อสุขภาพเหงือกและฟัน, ส่งผลให้สุขภาพเหงือกและฟันดี, ป้องกันฟันผุ (มีสารฟลูออไรด์), ลดการสะสมคราบแบคทีเรีย หรือคราบพลัคและหินปูน, ลดการเสียวฟัน (มีสารลดการเสียวฟัน), ใช้น้ำตาลที่ไม่ก่อให้เกิดฟันผุ (มีสาร Xylitol), ระงับกลิ่นปากอันไม่พึงประสงค์, ทำความสะอาดซอกฟัน
กลุ่มเครื่องสำอางสำหรับช่องปาก เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก สเปรย์ระงับกลิ่นปาก ไหมขัดฟันผสมฟลูออไรด์ เป็นต้น การโฆษณาต้องสื่อถึงสรรพคุณหลักในการทำความสะอาดและส่งเสริมสุขอนามัยในช่องปากและฟัน
ข้อความต้องห้าม : ป้องกันโรคปริทันต์, ลดแผลในช่องปาก, ป้องกันเหงืออักเสบ, ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน, ฟันแข็งแรง, ช่วยให้ฟันขาวขึ้น, บรรเทาอาการเจ็บคอ, ฆ่าเชื้อโรคในช่องปาก
ห้ามใช้ข้อความหรือภาพที่สื่อความหมายถึงประสิทธิภาพว่ามีผลในการรักษา/ป้องกันโรคปริทันต์ หรือผลในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ
ข้อความที่ใช้ได้ : ช่วยให้ฟันขาว, ไม่ทำลายเคลือบฟัน, ขจัดคราบบนผิวฟัน, ขจัดคราบบุหรี่ ชา กาแฟ
การโฆษณาในส่วนของการแสดงภาพที่สื่อผลลัพธ์หลังการฟอกสีฟันต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง หรือเพิ่มข้อความที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับสีของเนื้อฟันแต่ละบุคคล ควรแนะนำว่าให้ใช้ผลิตภัณฑ์ฟอกสีฟันภายใต้การดูแลของทันตแพทย์
ข้อความต้องห้าม : สีฟันขาวขึ้น*
ห้ามใช้ข้อความหรือภาพที่สื่อความหมายถึงประสิทธิภาพในการฟอกสีฟันให้ขาวขึ้นได้ อันเนื่องจากปัญหาความผิดปกติของผิวเคลือบฟัน หรือผลอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากลุ่ม Tetracycline หรือการได้รับฟลูออไรด์สูงเกินระดับที่เหมาะสมในวัยเด็ก เช่น Fluorosis ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้จากการใช้เครื่องสำอางกลุ่มฟอกสีฟัน
ข้อความที่ใช้ได้ : Anti-Blue light, แอนติบลูไลต์, ป้องกันแสงสีฟ้า
ต้องเป็นเครื่องสำอางผสมสารป้องกันแสงแดดที่มีสารในกลุ่ม Physical Sunscreen เช่น Titanium Dioxide และ/หรือ Zinc Oxide เป็นส่วนประกอบ ต้องมีผลทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันแสงสีฟ้าของเครื่องสำอางที่โฆษณา
ข้อความต้องห้าม : ป้องกันแสงสีฟ้าในระดับลึกกว่าชั้นผิวหนัง, ป้องกันแสงสีฟ้าในระดับเซลล์
ห้ามใช้ข้อความที่สื่อความหมายถึงประสิทธิภาพของเครื่องสำอางว่ามีผลต่อร่างกาย หรือป้องกันแสงสีฟ้าในระดับที่ลึกกว่าชั้นผิวหนัง หรือในระดับเซลล์ หรือข้อความอื่นที่มีความหมายทำนองเดียวกัน
ข้อความที่ใช้ได้ : สร้างสมดุลให้ผิวชุ่มชื้น, สร้างสมดุลให้ผิวไม่มัน, ช่วยคืน/ช่วยฟื้น/ช่วยปรับสมดุล ผิวที่เกิดจากความแห้งกร้าน, มีส่วนผสมของ Microbiome, Prebiotic หรือ Probiotic
อาจใช้ข้อความ สมดุล สร้างสมดุลให้ผิว ให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของเครื่องสำอางแต่ละประเภท เช่น เพื่อสื่อความหมายของสมดุลที่ถึงการช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้น ในกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Moisturize) หรือเพื่อสื่อถึงความหมายของการสมดุลที่ลดปริมาณน้ำมันซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของสิวในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว (Cleanser) เป็นต้น และอนุญาตข้อความ ช่วยคืน/ช่วยฟื้น/ช่วยปรับ สมดุลผิวที่เกิดจากความแห้งกร้าน ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าและผิวกายแบบไม่ล้างออก สามารถใช้ข้อความ มีส่วนผสมของ Microbiome, Prebiotic หรือ Probiotic หรือข้อความอื่นในทำนองเดียวกัน กรณีระบุข้อเท็จจริงตามสูตรส่วนประกอบ
ข้อความต้องห้าม : ปรับความเป็นกรด-ด่าง, ปรับค่า pH ของผิว, ช่วยปรับ/ฟื้น/ดูแล สมดุลไมโครไบโอม, ปกป้องไมโครไบโอมที่ดีบนผิว, เป็นมิตรต่อไมโครไบโอมของผิว
ห้ามใช้ข้อความสมดุล สร้างสมดุลให้ผิว เพื่อสื่อถึงความหมายถึงการปรับค่า pH ให้กับผิวหนัง หรือข้อความที่สื่อความหมายว่า เป็นการปรับความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของผิวหนัง ในช่องปาก หรือจุดซ่อนเร้น ห้ามใช้ข้อความ ช่วยปรับ/ฟื้น/ดูแล สมดุลไมโครไบโอม, ปกป้องไมโครไบโอมที่ดีบนผิว, เป็นมิตรต่อไมโครไบโอมของผิว เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจน และไมโครไบโอมมีความหลากหลายตามสภาพผิวแต่ละบุคคล
ข้อความที่ใช้ได้ : ทำจากธรรมชาติ, สารสกัดจากธรรมชาติ, มีส่วนผสมจากธรรมชาติ
อาจใช้ข้อความ ทำจากธรรมชาติ เพื่อสื่อความหมายถึงเครื่องสำอางที่โฆษณานั้นมีส่วนผสมทุกรายการในสูตรที่ได้จากธรรมชาติโดยไม่ผ่านกระบวนการสกัดใดๆ ยกเว้นการย่อยขนาดให้เล็กลง เพื่อให้เหมาะสำหรับการนำไปใช้ และไม่มีวัตถุกันเสีย (Preservative) เป็นส่วนผสม เช่น ผงเฮนน่าผสมผงชาเขียวสำหรับหมักผม และอาจใช้ข้อความ มีส่วนผสม หรือมีสารสกัดจากธรรมชาติ เพื่อสื่อความหมายถึงเครื่องสำอางที่โฆษณานั้นมีสารบางรายการในสูตรที่ได้จากธรรมชาติ เช่น มีสารสกัดจากใบบัวบก
ข้อความต้องห้าม : ไม่มีสารเคมีเจือปน, ทำจากธรรมชาติ (ในกรณีที่มีส่วนผสมเป็นสารเคมีด้วย)
หากเครื่องสำอางที่โฆษณานั้นมีส่วนผสมเป็นสารเคมี ห้ามใช้ข้อความ ทำจากธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีเจือปน หรือข้อความอื่นที่มีความหมายทำนองเดียวกัน
ข้อความที่ใช้ได้ : Detox, ดีท็อกซ์
ให้ใช้ข้อความ Detox หรือทับศัพท์เป็นภาษาไทย
ข้อความต้องห้าม : ล้างพิษ, กำจัดสารพิษ
ห้ามแปล และห้ามบรรยายสรรพคุณ Detox ไปในทาง ล้างพิษ กำจัดสารพิษ หรือข้อความอื่นๆที่มีความหมายทำนองเดียวกัน
สัญลักษณ์ที่ใช้ได้ : เครื่องหมายรับรองระบบมาตรฐาน
เครื่องหมาย ตราสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายรับรองระบบมาตรฐาน สามารถแสดงได้ตามข้อเท็จจริง โดยต้องมีเอกสารหรือหลักฐานการสนับสนุน แต่ต้องไม่สื่อให้เข้าใจผิดในความเป็นเครื่องสำอาง เช่น GMP/ ISO/ Halal เป็นต้น โดยเป็นไปตามเงื่อนไขของการอนุญาตของผู้ให้ตราสัญลักษณ์ และระบุปีที่ได้รับตรา หรือแสดงได้ในกรณีที่การอนุญาตยังมีผลบังคับใช้ การใช้สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายบวก กากบาท หรือสัญลักษณ์อื่นที่ทำให้เข้าใจไปในทำนองเดียวกันนั้น ต้องแสดงเจตจำนงให้ชัดเจนว่ามีจุดมุ่งหมายในการสื่อความหมายในลักษณะใด และมีองค์ประกอบของรายละเอียดที่กล่าวอ้างในการโฆษณา ซึ่งสอดคล้องชัดเจนตามจุดมุ่งหมาย โดยต้องไม่เกินความเป็นขอบข่ายเครื่องสำอาง ตามคำนิยามเครื่องสำอาง มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 เช่น การใช้สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายบวกประกอบกับข้อความหรือสัญลักษณ์สื่อถึงสารที่เติมเพิ่มเป็นสำคัญ เช่น Vitamin B, Hyaluronic เป็นต้น
สัญลักษณ์ต้องห้าม : สัญลักษณ์ หรือรูปภาพที่สื่อถึงการบำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันเชื้อโรค หรือฆ่าเชื้อโรค, เครื่องหมายกาชาด, สัญลักษณ์เครื่องหมายบวกหรือกากบาทสีใดๆ ร่วมกับสัญลักษณ์ทางการแพทย์
ห้ามใช้เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือรูปภาพที่สื่อถึงการบำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันเชื้อโรค หรือฆ่าเชื้อโรค ห้ามใช้สัญลักษณ์เครื่องหมายที่มีลักษณะกากบาทสีแดงบนพื้นขาวตามนิยามเครื่องหมายกาชาด ในพระราชบัญญัติกาชาด พ.ศ.2499 ห้ามใช้สัญลักษณ์เครื่องหมายบวกหรือเครื่องหมายที่มีลักษณะกากบาทสีใดๆ ร่วมกับสัญลักษณ์ทางการแพทย์ เช่น สัญลักษณ์ งูพันคบเพลิง หรือข้อความ โรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิก ยกเว้นกรณีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติการค้า(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 โดยต้องมีการแสดงหรือสื่อสารให้เข้าใจได้ว่า เป็นเครื่องหมายการค้า เช่น มีเครื่องหมาย ® ร่วมด้วย เป็นต้น
ข้อความที่ใช้ได้ : เปรียบเทียบยอดขายผลิตภัณฑ์ของตนเอง, เปรียบเทียบยอดขายกลุ่มผลิตภัณฑ์เดียวกันกับผู้อื่นในขอบเขต หรือพื้นที่ซื้อขายใดๆ
เปรียบเทียบยอดขายผลิตภัณฑ์ของตนเอง สามารถแสดงการเปรียบเทียบยอดขายผลิตภัณฑ์ของตนเองในช่วงระยะเวลาที่สำรวจ หรือสามารถแสดงเอกสาร เช่น เอกสารแสดงจำนวนการผลิต หรือหลักฐานอ้างอิงตามข้อเท็จจริง
เปรียบเทียบยอดขายกลุ่มผลิตภัณฑ์เดียวกันกับผู้อื่นในขอบเขต หรือพื้นที่ซื้อขายใดๆ ระบุช่วงเวลาที่มีการอ้างอิงยอดขาย ระบุพื้นที่ที่ทำการสำรวจยอดขาย เช่น ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือ ณ ห้ามสรรพสินค้าหนึ่งๆ เป็นต้น สามารถแสดงเอกสาร เช่น เอกสารแสดงจำนวนการผลิต หรือหลักฐานอ้างอิงตามข้อเท็จจริง หรือการแสดงลำดับยอดขายในกลุ่มผลิตภัณฑ์เดียวกัน
ข้อความต้องห้าม : การเปรียบเทียบกับต่างผลิตภัณฑ์ หรือต่างบริษัท
การเปรียบเทียบกับต่างผลิตภัณฑ์ หรือต่างบริษัท ห้ามระบุชื่อผลิตภัณฑ์
ข้อความที่ใช้ได้ : การทดสอบความพึงพอใจ, การทดสอบทางคลินิก (ประสิทธิภาพ หรือความปลอดภัย)
การทดสอบความพึงพอใจ การอ้างอิงผลการทดสอบความพึงพอใจสามารถแสดงผลการทดสอบตามข้อเท็จจริง และให้โฆษณาโดยอ้างอิงจำนวนกลุ่มตัวอย่างโดยตรง เช่น กลุ่มตัวอย่าง 45 คน จาก 50 คน หรือแสดงเป็นจำนวนร้อยละ หรือเปอร์เซ็นต์ร่วมกับจำนวนของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ทำการทดสอบ และช่วงเวลาที่ทำการทดสอบ การโฆษณาสามารถใช้คำที่สื่อความหมายถึงกลุ่มตัวเองที่ทำการทดสอบ เช่น กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้หญิง ผู้บริโภค ผู้ใช้ ฯลฯ ทั้งนี้ในการโฆษณาทางโทรทัศน์หรือวิทยุ ให้บอกข้อความด้วยเสียงอย่างชัดเจน โดยจะมีซูเปอร์ข้อความดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ สามารถใช้คำว่ากลุ่มอาสาสมัคร หรือคำอื่นที่สื่อความหมายในทำนองเดียวกัน หรือข้อความที่แสดงว่าเป็นการทดสอบความพึงพอใจ
การทดสอบทางคลีนิก การโฆษณาประสิทธิภาพของเครื่องสำอาง ต้องเป็นผลการทดสอบเครื่องสำอางที่โฆษณา การทดสอบควรปฏิบัติตามหรืออ้างอิงการดำเนินการตามวิธีการทางสากล หรือมีเอกสารรับรองทางวิชาการเกี่ยวกับจำนวนอาสาสมัคร ต้องระบุข้อความในโฆษณาว่าเป็นการทดสอบเกี่ยวกับเรื่องอะไร ช่วงเวลาที่ทำการทดสอบ สภาวะการทดสอบ สถิติที่ใช้ จำนวนอาสาสมัคร เป็นต้น
ข้อความต้องห้าม : การสรุปว่าเครื่องสำอางมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้าง
ห้ามใช้ข้อความที่สรุปว่าเครื่องสำอางมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้าง เนื่องจากเป็นเพียงการทดสอบความพึงพอใจเท่านั้น ไม่ใช่การทดสอบทางวิชาการ
1. เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์
ที่สุด ไร้สารพิษ ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง ปราศจากสารอันตราย ที่สุดในโลก ไร้ผลข้างเคียง จบทุกปัญหาผิว จบทุกปัญหาสิว
2. สื่อความหมายว่าเครื่องสำอางที่โฆษณาได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ผ่านมาตรฐานจากองค์การอาหารและยา
3.การเปรียบเทียบกับการทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การเลเซอร์ การฉีดโบท็อกซ์ การศัลยกรรม ซึ่งมีการเปรียบเทียบว่า ผลที่ได้จากการใช้เครื่องสำอางเทียบเท่าหรือดีกว่าการทำหัตถการทางการแพทย์
แค่ทาก็เท่ากับฉีด ขาวไวกว่าฉีด หน้าเรียวไม่ง้อโบท็อกซ์ ผิวเต่งตึงเสมือนยิงเลเซอร์
1. ข้อความที่สื่อความหมายว่ามีผลต่อสุขภาพ
ฟื้นฟูผิวหนังให้แข็งแรง ดูดซับของเสียตกค้างใต้ผิว ล้างสารพิษ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
2. ข้อความที่สื่อความหมายว่ามีผลต่อโครงสร้างของร่างกาย
เสริม/ลดหน้าอก สลายไขมัน ยกกระชับ ปรับรูปหน้าเรียว กระชับสัดส่วน อกฟู รูฟิต ลดความอ้วน ทำให้สูงขึ้น เพิ่มขนาดอวัยวะเพศชาย
3. ข้อความที่สื่อความหมายว่ามีผลต่อการกระทำหน้าที่ใด ๆ ของร่างกาย
กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน ลดการสร้างเม็ดสีผิว ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดผมหงอก กระตุ้นหรือเร่งการสร้างเส้นผมใหม่ให้ดกดำ เร่งการงอกของเส้นผม หนวด เครา ลดผมร่วง ลดผมบาง บำรุงรากผม
1. ข้อความที่สื่อความหมายถึงสรรพคุณรักษาโรค
รักษาสิว/ป้องกันหรือลดอาการอักเสบของสิว ป้องกันหรือรักษาฝ้า แก้ผดผื่นคัน ระงับหรือยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่ผิวหนัง รักษาแผลหรือลดอาการอักเสบในช่องปาก จบทุกปัญหาสิว ลดการอักเสบของผิวหนัง ปกป้องผิวจากโรคผิวหนัง ผด ผื่นคัน รักษาทุกปัญหาของรอบเดือนสตรี โรคปริทันต์ บรรเทาอาการเจ็บคอ รักษาโรคปวดข้อ ปวดเข่า ปวดหลัง ลดการอักเสบ ของเส้นเอ็น ข้อเข่า และกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดบวม เคล็ดขัดยอก กล้ามเนื้ออ่อนแรง รักษาโรคต้อหิน ต้อกระจก ต้อลม แพ้แสง มองไม่ชัด ตามัว
2. ข้อความที่มิใช่จุดมุ่งหมายเป็นเครื่องสำอางหรือ มีจุดมุ่งหมายเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทอื่น เช่น ยา อาหาร วัตถุอันตราย หรือเครื่องมือแพทย์
ทาผิวกายเพื่อไล่ยุง แมลง ทาบริเวณที่แมลงกัดต่อย ชโลมเส้นผมเพื่อกำจัดเหา ชำระล้างอวิชชาต่าง ๆ และเปิดดวงชะตาชีวิต เพื่อรับพลังด้านดีให้แก่ผู้ใช้ ฉีดพ่นฆ่าเชื้อบนจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอโทรศัพท์ ฝาชักโครก โต๊ะทำงาน ฉีดหน้ากากอนามัย ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา
กระชับภายในคืนความสาว บรรเทาช่องคลอดแห้ง รีแพร์ ช่องคลอดฟิต เพิ่มสมรรถภาพท่านชาย แก้ปัญหาไม่แข็งตัว เพิ่มพลังช้างสาร เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ชะลอการหลั่ง ทำให้สนุกได้นานขึ้น แข็งตัวได้เต็มที่ แข็งตัวได้นานขึ้น เพิ่มขนาดและความแข็งแรง เพิ่มความสนุกสนานบนเตียง โคตรทน
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปัจจุบันเน้นความจริงใจกับผู้บริโภค เน้นทำการตลาดบนพื้นฐานของความจริงและมีผลทดสอบที่พิสูจน์ได้ถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ การโอเวอร์เคลมจะทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์นั้น ๆ ดูไม่น่าเชื่อถือ และด้วยการเข้าถึงและการแชร์ที่รวดเร็วก็สามารถสร้างผลเสียต่อแบรนด์ได้หากไม่มีความจริงใจต่อผู้บริโภค ดังนั้นแล้วผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจึงควรมีคำกล่าวอ้างที่เหมาะสม ไม่เกินขอบข่ายความเป็นเครื่องสำอาง และไม่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์
TNP เรามีการตรวจสอบทุกครั้งก่อนที่จะปล่อยสินค้าออกไปสู่ตลาดเชื่อมั่นได้ว่าเครื่องสำอางที่ออกจากเรา ถูกกฎหมายทุกขั้นตอน
ที่มา
คู่มือการโฆษณาเครื่องสำอาง ฉบับปรังปรุง 2567 โดยกลุ่มกำกับดูแลเครื่องสำอางหลังออกสู่ตลาด สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข