แชร์

R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.27 การจดแจ้งชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง (FDA Registration)

อัพเดทล่าสุด: 25 มิ.ย. 2024
857 ผู้เข้าชม
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.27 การจดแจ้งชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง (FDA Registration)

     ชื่อเครื่องสำอางที่แปลกใหม่จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้ตัวผลิตภัณฑ์ แต่การจะตั้งชื่อได้นั้นก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่เกินขอบข่ายความเป็นเครื่องสำอาง และไม่ก่อให้เกิดความสับสนในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์ ใน EP.27 นี้ TNP ได้สรุปเรื่องการตั้งชื่อเครื่องสำอางอย่างง่าย โดยอ้างอิงจาก หลักเกณฑ์การพิจารณาการจดแจ้งเครื่องสำอาง ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นฉบับที่อัพเดตล่าสุดในปัจจุบัน

     ผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายเป็นเครื่องสำอาง จะต้องเป็นไปตามคำจำกัดความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดไว้ว่า เครื่องสำอาง หมายความว่า

1. วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดกับส่วนภายนอกของร่ายกายมนุษย์ และให้หมายความรวมถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏ หรือระงับกลิ่นกาย หรือปกป้องดูแลส่วนต่าง ๆ นั้น ให้อยู่ในสภาพดี และรวมตลอดทั้งเครื่องประทิ่นต่าง ๆ สำหรับผิวด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย

2. วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะ หรือ

3. วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสำอาง

ปัจจุบันกองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ได้พิจารณาจัดแบ่งประเภทผลิตภัณฑ์ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงสูงและผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงต่ำ

1. ผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงสูง คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้สูงหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงที่อาจไม่เข้าข่ายเป็นเครื่องสำอาง เช่น ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกายรูปแบบแผ่น (ทิชชู่เปียก, ผ้าเย็น/กระดาษเย็น) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น ผลิตภัณฑ์ที่บรรจุในภาชนะบรรจุคล้ายยา เช่น หลอดแก้วบรรจุยา (Ampoule), ขวดแก้วบรรจุยา (Vial), กระบอกฉีดยา (Syringe) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีกัญชง กัญชาเป็นส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์สเปรย์ระงับกลิ่นปากและน้ำยาบ้วนปาก เป็นต้น

2. ผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงต่ำ คือ ผลิตภัณฑ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้น้อย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงสูง เช่น ครีมทาหน้า โลชั่นทาผิวกาย สบู่ แชมพู ครีมนวดผม ลิปสติก บลัชออน อายแชโดว์ อายไลน์เนอร์ แป้งทาหน้า แป้งฝุ่นโรยตัว และน้ำหอม เป็นต้น 

ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาการจดแจ้งเครื่องสำอาง ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2564 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีทั้งหมด 41 ประเภท ดังนี้


     ผลิตภัณฑ์ที่ไม่จัดว่าเป็นเครื่องสำอางจะพิจารณาจากจุดมุ่งหมายของการใช้และวัตถุประสงค์การใช้ไม่ใช้เครื่องสำอาง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่อ้างสรรพคุณบำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรค หรือสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำหน้าที่ของร่างกาย จะเข้าข่ายเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ร่วมกับเครื่องมือที่สามารถผลักสารผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย จะจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทาผิวกายเพื่อไล่แมลง จะจัดเป็นวัตถุอันตราย เป็นต้น

     ชื่อการค้าหรือชื่อเครื่องสำอางอาจประกอบด้วยคำที่เป็นชื่อเฉพาะหรือคำที่สื่อถึงสารเคมี/สรรพคุณ/รูปแบบ/ประเภทของผลิตภัณฑ์ มีแนวทางการพิจารณารับจดแจ้งในส่วนของชื่อการค้าและชื่อของเครื่องสำอางดังนี้

1. ข้อความที่ใช้เป็นชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง ที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษต้องมีความหมายสอดคล้องตรงกัน หรือใช้ทับศัพท์

2. ต้องไม่ใช้ข้อความไปในทำนองโอ้อวด ไม่สุภาพ หรือ อาจทำให้เข้าใจผิดจากความจริง

3. ต้องไม่ใช้ข้อความ ที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมอันดีงามของไทย หรือส่อไปในทางทำลายคุณค่าของภาษาไทยหรือสื่อถึงการใช้ทางเพศสัมพันธ์ซึ่งมิใช่เครื่องสำอาง

4. ต้องไม่ใช้ข้อความ/คำศัพท์/ตัวย่อ/คำพ้องรูป/คำพ้องเสียง/ตัวอักษร/ตัวเลข/การออกเสียง ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง หรือสื่อความหมาย/แสดงสรรพคุณเกินขอบข่ายเครื่องสำอาง หรือไปในทางยา เช่น STEM CE11

5. ต้องไม่ใช้ข้อความ ที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยา หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่เครื่องสำอาง

6. ข้อความที่ใช้เป็นชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง จะต้องสามารถชี้แจงและสื่อความหมายไปในทางเครื่องสำอางได้อย่างสมเหตุสมผล

7. การจดทะเบียนชื่อการค้า ที่ใช้ข้อความ/คำศัพท์/ตัวย่อ/คำพ้องรูป/คำพ้องเสียง/ตัวอักษร/ตัวเลข/การออกเสียงที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง หรือสื่อความหมาย/แสดงสรรพคุณเกินขอบข่ายเครื่องสำอาง หรือไปในทางยา จะนำมาเป็นเหตุให้ยกเว้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ฉบับนี้ไม่ได้

8. ต้องไม่ใช้ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม

9. ต้องไม่ใช้เครื่องหมายการค้า หรือภาพ หรือข้อความ สื่อให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ เช่น สื่อไปในทางเพศ สื่อไปทางการรักษา สื่อไปในทางยาหรือมีผลระดับเซลล์ หรือมีผลต่อโครงสร้างของร่างกาย

     คำที่สื่อความหมาย/แสดงสรรพคุณเกินขอบข่ายความเป็นเครื่องสำอาง หรือไปในทางยา รวมถึงคำพ้องรูป/พ้องเสียง หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ไม่สามารถนำมาใช้ตั้งชื่อได้ ได้แก่

1. สื่อถึงการบำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรคหรือภาวะผิดปกติของร่างกาย เช่น Cure, Anti-inflammation, Sun burn รวมถึงคำที่สื่อถึงโรค หรืออาการของโรค เช่น Callus

2. สื่อถึงการฆ่าเชื้อโรค เช่น Antiseptic, Kill bacteria รวมถึงการสะกดด้วยตัวอักษร/การออกเสียงที่อาจทำให้เข้าใจผิด เช่น Antiseptik

3. สื่อถึงผลต่อสุขภาพ โครงสร้างหรือการกระทำหน้าที่ใด ๆ ของร่างกาย เช่น สลายไขมัน, Growth, Stop hair fall

4. สื่อถึงการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ร่างกายหรือใช้ร่วมกับเครื่องมือแพทย์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อนำสารผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย เช่น Mesotherapy, Lazer, Micro-Needle, Iontophoresis

5. คำที่สื่อถึงสารที่ห้ามใช้ในเครื่องสำอาง เช่น Hormones, Estrogen, Phytoestrogen, Stem Cell

6. คำที่สื่อถึงผลิตภัณฑ์ยา เช่น Botox , Botox - Liked

7. สื่อถึงการลบรอยแผลเป็น เช่น Scar Eraser, Scar Treatment

8. คำที่สื่อถึงผลิตภัณฑ์ที่มิใช่เครื่องสำอาง เช่น Mosquito, Insect Repellant, Pet, Lubricant,  Pharmacopia

9. ห้ามใช้ชื่อพืชที่ไม่ใช่ชื่อทางพฤกษศาสตร์ที่อาจทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของเครื่องสำอาง เช่น ว่านมหาเสน่ห์ หญ้ารีแพร์ (ฮียุ่ม, ว่านดอกทอง, ว่านรากราคะ) ว่านสาวหลง เป็นต้น

10. ชื่อเล่นหรือชื่อจริงที่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของชื่อผลิตภัณฑ์ เช่น พ้องกับชื่อยา ชื่อสารเคมี ชื่อประเทศ หรือชื่อที่สื่อถึงการบรรยายสรรพคุณ

11. ห้ามใช้ชื่อผลิตภัณฑ์หรือข้อความบนฉลาก ที่สื่อไปในทางศาสนา ไสยศาสตร์ เทพเจ้าและความเชื่อต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://cms-media.fda.moph.go.th/461117737616416768/2023/03/nGJ59xvipOWHCURTikNRm4Xh.pdf

คำที่อาจนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อเครื่องสำอางได้ หากคำนั้นมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับรายละเอียดของเครื่องสำอาง เช่น

1. ชื่อสาร ในสูตรจะต้องมีสารซึ่งสัมพันธ์กับชื่อเครื่องสำอาง เช่น
TNPOEM BHA-PHA Clarifying Facial Wash ในสูตรมีสาร BHA และ PHA
TNPOEM 10% AHA Renew Whiten Body Lotion ในสูตรมีสาร AHA อยู่ 10%

2. White, Bright, Light, Whiten, Brighten, Lighten, Whitening, Brightening, Lightening ใช้เป็นชื่อของผลิตภัณฑ์ประเภทแป้ง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว ผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปาก (ระบุวิธีใช้ที่ชัดเจนว่า ใช้หลังการแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่ผสมสารขัดฟัน) หรือเมื่อในสูตรมีสารดังนี้

  • สารป้องกันแสงแดด 28 รายการ ตามที่ปรากฎในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ สารป้องกันแสงแดด https://cosmetic.fda.moph.go.th/interesting-law/category/cosmetic-laws)
  • สารในกลุ่ม AHAs, BHA, PHA
  • สารอื่น ๆ เช่น Arbutin, Ascorbic acid and its derivatives, Tranexamic acid, Niacinamide
เช่น
TNPOEM Perfume Body Lotion Light
TNPOEM Microbiome White C Serum

3. Acne, Anti-Acne, Blackhead ในสูตรจะต้องมีสารป้องกันสิว เช่น BHA (Salicylic acid), Tea Tree Oil ยกเว้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อได้เลย เช่น
TNPOEM Acne Essence Absolute 1% BHA ในสูตรมีสาร BHA
TNPOEM Amino Acne Foam Mousse Remover & Cleanser

4. Tartar, Tartar Control, Ant-Plaque, Stain Clear ใช้เป็นชื่อของผลิตภัณฑ์ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก (ระบุวิธีใช้ที่ชัดเจนว่า ใช้หลังการแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่ผสมสารขัดฟัน) เช่น
TNPOEM Charcoal Lemon Anti-Plaque Toothpaste

5. Anticaries ในสูตรจะต้องมีสารประกอบของฟลูออไรด์

6. Sensitive Teeth, For Sensitive Teeth ในสูตรจะต้องมีสารซึ่งสามารถลดการเสียวฟันได้ เช่น
TNPOEM Toothpaste Sensitive Teeth & Gum Care

7. Cellulite, Anti-Cellulite ใช้เป็นชื่อในผลิตภัณฑ์ประเภทผิวกายเท่านั้น เช่น ผลิตภัณฑ์กระชับผิวกาย, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย และในสูตรจะต้องมีสาร เช่น Caffeine, Carnitine, Xanthine, Methylsilanol mannuronate, Sodium mannuronate methylsilanol, Coffea arabica seed extract, Coffea arabica seed powder

8. Firm, Firming ใช้เป็นชื่อในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว, ผลิตภัณฑ์กระชับผิว สำหรับผลิตภัณฑ์นวดผิวกายต้องมีสารที่ให้ความร้อน เช่น สารสกัดจาก พริก ขิง หรือ พริกไทย เป็นต้น หรือผลิตภัณฑ์นวดผิวหน้าต้องมีสารในกลุ่ม moisturizing, astringent

9. Placenta, Amniotic Fluid ในสูตรจะต้องมีสาร Placental extract, Placental protein, Amniotic Fluid หรือมีส่วนผสมของวัตถุดิบที่ผลิตมาจาก โค แพะ แกะ

10. Pore Tightening, Pore Minimizing ใช้เป็นชื่อในผลิตภัณฑ์ประเภทตกแต่งใบหน้าหรือผิวกาย และผลิตภัณฑ์ปกปิดริ้วรอย หรือในสูตรจะต้องมีสารที่ทำหน้าที่ Astringent เช่น Hamamelis virginiana bark/leaf extract, Alcohol หรือ สารที่สามารถปกปิดรูขุมขน เช่น Silicone elastomer เช่น
TNPOEM Foundation Matte Coverage Pore-Minimizing& Anti-Pollution SPF50+ PA++++

11. Sanitizer ใช้เป็นชื่อในเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือเท่านั้น

12. Blue Light, Anti-Blue Light โดยต้องมีเอกสารผลการทดสอบการป้องกันแสงในช่วง Blue Light เช่น
TNPOEM UV Stick Mineral Sun Reef Safe SPF50+ PA++++ Anti-Bluelight & Very Water Resistant

13. Sunscreen, UV Protection ในสูตรจะต้องมีส่วนผสมของสารป้องกันแสงแดด UV Broad Spectrum เมื่อมีสารกันแดดที่ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB  และ Water Resistance, SPF, PA จะต้องมีผลการทดสอบความสามารถดังกล่าวด้วย เช่น
TNPOEM 1st Lip Sunscreen Reef Safe SPF50+ PA++++ Very Water Resistant

14. Anti Dandruff, ขจัดรังแค ในสูตรจะต้องมีสารที่สามารถขจัดรังแค เช่น Salicylic acid, Zinc pyrithione, Piroctone olamine, Climbazole

15. Deodorant ในสูตรจะต้องมีสารที่ช่วยระงับกลิ่นกาย เช่น น้ำหอม หรือ สาร Antibacterial agent เช่น
TNPOEM Deodorant Dry Powder

16. Antiperspirant ในสูตรจะต้องมีสารที่สามารถระงับเหงื่อ เช่น Aluminum chlorohydrate, Aluminum zirconium octachlorohydrex sly, Aluminium zirconium chloride hydroxide glyaine complexes

17. Microbiome, Prebiotic, Probiotic, Postbiotic ในสูตรจะต้องมีสารที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว เช่น
TNPOEM Cleansing Milk Pre-Probiotic Rub Out Make Up & Brighten Skin

18. Scrub ในสูตรจะต้องมีสารที่ทำหน้าที่ Abrasive และ Peeling ในสูตรจะต้องมีสารกลุ่ม exfoliating เช่น AHA, BHA เช่น
TNPOEM Mask Gel Scrub Marine Wink

19. Tanning ในสูตรจะต้องมีสาร Dihydroxyacetone, Theobroma cacao (cocoa) seed butter, Acetyl tyrosine, น้ำมันมะพร้าว, สารกลุ่มให้สี เช่น
TNPOEM Tanning Liquid Pastel Brown

20. คลินิก/Clinic/แพทย์/ดร.../Dr./Doctor/ด็อกเตอร์/หมอ/MD./Ph.D. หรือคำอื่นๆที่สื่อถึงแพทย์และสถานพยาบาล จะต้องมีเอกสารหลักฐานความเกี่ยวข้องของสถานพยาบาล หรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ และ Clinical จะต้องมีเอกสารการทดสอบทางคลินิกของผลิตภัณฑ์

21. ลักษณะของผลิตภัณฑ์ เช่น Milky, Pearly, Golden เช่น
TNPOEM Lip 5G Infuse Oil (Gold-Glam-Gloss-Glow-Glitter)

22. Spray, Aerosol Spray ในสูตรต้องไม่มีสารที่ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ประเภทฉีดพ่น เช่น
TNPOEM Bi-Phase Argan Oil Keratin Smooth Hair Spray

23. Infant, Baby, เด็กเล็ก ในสูตรต้องไม่มีสารที่ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี

24. pH Balance ผลิตภัณฑ์ต้องมีค่าความเป็นกรด-ด่าง ที่เหมาะสมกับผิวหนังของคน คือค่า pH เท่ากับ 5.5 หากเป็นผิวส่วนอื่น เช่น จุดซ่อนเร้นให้ระบุค่า pH balance ให้สอดคล้องกับ pH ที่บริเวณนั้น

25. Organic ต้องมีเอกสาร Organic Certificate

26. Detox, Dtox, Detoxifying โดยต้องไม่แปลชื่อ และไม่บรรยายสรรพคุณ คำว่า Detox ไปในทางล้างพิษ หรือกำจัดสารพิษที่ฉลาก/โฆษณา และไม่บรรยายสรรพคุณเกินขอบข่ายความเป็นเครื่องสำอาง เช่น
TNPOEM Hemp Seed Oil & CBD Skin Soothing & Detoxifying Gel

27. Pure ตามด้วยชื่อสาร ต้องมีเอกสาร Specification เช่น Pure Aloe Vera, Pure Argan Oil

28. Natural, Nature, Bio ในสูตรต้องมีสารจากธรรมชาติ เช่น
TNPOEM Reju + Bio-Active Essence

29. Anti-Pollution, Polluguard หรือข้อความที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน ต้องมีผลการทดสอบ เช่น
TNPOEM Foundation Matte Coverage Pore-Minimizing & Anti-Pollution SPF50+ PA++++

30. Renew ในสูตรต้องมีสารกลุ่ม AHA, BHA หรือ PHA เช่น
TNPOEM 10% AHA Renew Whiten Body Lotion

31. Filler ใช้เป็นชื่อในผลิตภัณฑ์ตกแต่ง ปกปิดริ้วรอย และผลิตภัณฑ์ทาผิวที่มีสารบำรุงผิว (Skin Conditioning Agents) เป็นส่วนประกอบ

32. Ampoule โดยผลิตภัณฑ์ต้องอยู่ในขอบข่ายความเป็นเครื่องสำอาง เช่น
TNPOEM Complete White Ampoule Essence

33. Nano ในสูตรจะต้องมีสารขนาดอนุภาคเท่ากับหรือเล็กกว่า 100 นาโนเมตร

34. Anti-Bacterial ใช้เป็นชื่อในเครื่องสำอางประเภทที่ล้างออก (ยกเว้นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น) และในสูตรต้องมีสาร Antibacterial Agent เช่น Triclocarban, Triclosan Chloroxylenol, Benzalkonium Chloride, O-Cymen-5-Ol เป็นต้น

35. กัญชาและกัญชง ใช้คำว่า Hemp, Hemp Seed, Cannabis, Cannabis Sativa, Cannabis Sativa Seed และ สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) จากกัญชาและกัญชง ใช้คำว่า Cannabidiol หรือ CBD เช่น
TNPOEM Hemp Seed Oil & CBD Anti-Aging Serum
TNPOEM Hemp Seed Oil & CBD Acne Serum

     เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดตามความนิยมตลอดเวลา มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกกระแส และมีการใช้คำใหม่ ๆ ในการตั้งชื่อ ฉลาก และโฆษณา ช่วยสร้างความน่าสนใจเพื่อดึงดูดลูกค้า ดังนั้น คำหรือข้อความที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อหรือวัตถุประสงค์การใช้เครื่องสำอางที่มีการปรับเปลี่ยนนั้น จะต้องไม่เกินขอบข่ายความเป็นเครื่องสำอาง หรือมีผลต่อโครงสร้าง/การทำงานของร่างกาย หรือไปในทางยา หากมีการฝ่าฝืนหรือแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ จะส่งผลให้มีความรับผิดทางกฎหมาย ที่ TNP มีบริการตรวจสอบความถูกต้องทุกครั้ง จึงมั่นใจได้ในทุกคำเคลมของสินค้า

ที่มา
หลักเกณฑ์การพิจารณาการจดแจ้งเครื่องสำอาง (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2564) กลุ่มกำกับดูแลเครื่องสำอางก่อนออกสู่ตลาด
กองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

บทความที่เกี่ยวข้อง
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.28 ข้อควรรู้! สารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอาง
สารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอางมีอะไรบ้าง? ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อหรือเริ่มต้นสร้างแบรนด์ ใน EP.28 นี้ TNP ได้สรุปสารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอางประเภทต่างๆ มาให้แบบเข้าใจง่าย
9 ต.ค. 2024
ศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางที่น่าไว้วางใจ
สร้างแบรนด์แตกต่างด้วยคำว่า พิสูจน์ได้ บริการส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์มีเอกสารรับรอง ศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางที่น่าเชื่อถือ
8 ต.ค. 2024
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.24 การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอน การทดสอบทางประสาทสัมผัส (Sensory Evaluation)
การที่จะออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสูตรใหม่นั้นไม่ง่ายเลย ต้องมีการทดสอบมากมาย และหนึ่งในการทดสอบที่สำคัญคือ การทดสอบทางประสาทสัมผัส เป็นเสมือนการทดลองใช้ก่อนวางขายจริง
6 ส.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ