share

R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.26 กระบวนการผลิตเครื่องสำอาง (Production Process)

Last updated: 21 Jun 2024
703 Views
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.26 กระบวนการผลิตเครื่องสำอาง (Production Process)

     กว่าจะมาเป็นเครื่องสำอางที่อยู่ในมือผู้บริโภค สินค้าจะต้องผ่านกระบวนการที่เข้มงวดตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ใน EP. 26 นี้ TNP ได้สรุปกระบวนการผลิตเครื่องสำอางแบบเข้าใจง่าย เริ่มตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่พร้อมส่งถึงมือผู้บริโภค

1. ข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (Product Brief)
     ขั้นตอนแรกจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมการตลาดและทีมนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือที่เรียว่า R&D หรือ RD ในข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจะมีรายละเอียดต่าง ๆ เช่น คอนเซ็ปต์ รูปแบบผลิตภัณฑ์ ลักษณะ สี กลิ่น สารสำคัญ สรรพคุณ คำกล่าวอ้าง ผลิตภัณฑ์คู่แข่ง บรรจุภัณฑ์ ราคา กลุ่มตลาด เป็นต้น ซึ่ง RD จะกำหนดขอบเขตที่เป็นไปใด้ของเครื่องสำอาง จุดที่ควรปรับปรุงแก้ไข ดูความเป็นไปได้ในการผลิตจริง และราคาต้นทุน ที่สำคัญผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้และมีนวัตกรรมที่ทันเทรนด์ตลาด

2. ค้นคว้าและทดลอง (Research & Experiment)
     RD ทำการค้นหาส่วนผสมที่เหมาะสมและเปอร์เซ็นต์ที่ใช้ในสูตร ดูความเหมาะสมในเรื่องของราคาและปริมาณสารทั้งหมดที่ใช้เมื่อมีการผลิตจริง เมื่อได้สูตรทดลองที่มาจากทฤษฎีแล้วก็จะมีการทดลองในห้องปฏิบัติการ (laboratory scale) เป็นการขึ้นตัวอย่างเนื้อผลิตภัณฑ์ในบีกเกอร์ทดลอง ผลิตออกมาในปริมาณน้อยประมาณ 100 - 200 กรัม เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสูตรเครื่องสำอางว่าเป็นไปตามทฤษฎีที่คิดไว้หรือไม่

3. ทดสอบและเสนอแนะ (Test & Feedback)
     พอได้เนื้อผลิตภัณฑ์ตัวอย่างจาก RD ขั้นตอนถัดมาคือต้องทดสอบเนื้อผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพเบื้องต้น (in-house) ขั้นตอนนี้จะค่อนข้างใช้เวลานาน เพราะอาจจะมีการปรับสูตรจนกว่าจะได้สูตรแม่บทที่พร้อมผลิตสินค้า

4. สูตรแม่บท (Master Formula)
     หลังจากทดสอบและสรุปสูตรจนได้สูตรแม่บทที่จะใช้ผลิตเรียบร้อยแล้ว RD จะทำการทดลองอีกครั้งเพื่อหาวิธีการหรือกระบวนการในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการขยายการผลิต (scale up) หรือวางแผนควบคุมการผลิตเพื่อให้กระบวนการผลิตสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยมีการจัดทำเอกสารการผลิตเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตทำการผลิตและควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามที่กำหนดทุกครั้งหากมีการร้องเรียนจะได้สามารถตรวจสอบและหาสาเหตุได้ เอกสารสูตรแม่บทมีรายละเอียด ดังนี้

- ชื่อผลิตภัณฑ์
- ชนิด จำนวน และปริมาณของวัตถุดิบและวัสดุการบรรจุที่ใช้ทั้งหมด
- ข้อแนะนำในการผลิต การบรรจุ และการเก็บรักษา เครื่องสำอางรอการบรรจุ และเครื่องสำอางสำเร็จรูป
- ผลผลิตที่ได้ตามทฤษฎี และค่าเบี่ยงเบนที่ยอมรับให้มีได้

5. เอกสารที่เกี่ยวข้อง (Documentation)
     เมื่อลูกค้ายืนยันการผลิตจึงทำการจดแจ้งเครื่องสำอางอย่างถูกต้อง แล้วตรวจสอบข้อมูลฉลากให้เป็นไปตามใบรับจดแจ้งและกฎหมายการโฆษณาเครื่องสำอาง หลังจากนั้นออกเอกสารแสดงข้อมูลความปลอดภัย (material safety data sheet: MSDS) และเอกสารข้อกำหนด (specification) ของวัตถุดิบ วัสดุบรรจุ ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

Did you know รู้หรือไม่?

     ก่อนการผลิตเนื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อจำหน่ายสูตรใหม่ จะต้องจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน เนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำเร็จรูปทุกชนิดหรือผลิตภัณฑ์นำเข้าที่มีลักษณะบรรจุในถังใหญ่ (bulk) จัดเป็นเครื่องสำอาง ดังนั้นผู้ที่ประสงค์จะผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอาง จะต้องมาจดแจ้งรายละเอียดต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก่อนผลิตหรือนำเข้าเพื่อขาย โดยดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการจดแจ้งรายละเอียด และต้องมีหน้าที่รับผิดชอบผลิตหรือนำเข้าหรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

6. การทดสอบความคงตัว (Stability Testing)
     วัตถุประสงค์ของการทดสอบความคงตัวในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางคือ เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์สูตรใหม่ ผลิตภัณฑ์สูตรปรับปรุงหรือดัดแปลง เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพทางกายภาพ เคมี และจุลชีววิทยา ตลอดจนการใช้งานและความสวยงามของผลิตภัณฑ์เมื่อเก็บไว้ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม โดยการทดสอบความคงตัวของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทั้งทางกายภาพและเคมี จะมีการทดสอบหลายสภาวะ เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงจนกว่าจะสิ้นอายุ หรือการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ จะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ผ่าน (rejected) เช่น การแยกชั้น เนื้อ สี กลิ่น pH และความหนืดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีเชื้อจุลินทรีย์เกินกำหนด เกิดการรั่วซึมเมื่อทดสอบกับบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

7. การทดสอบผู้บริโภค (Consumer Testing)
     เป็นการศึกษาหาความชอบหรือการยอมรับของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ขั้นตอนนี้มีค่าใช่จ่ายที่สูง แต่ก็แลกเปลี่ยนมากับข้อมูลเชิงลึกที่จะได้รับเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ โดยจะเป็นแบบทดสอบความรู้สึกของผู้ทดสอบในแง่ความชอบ หรือการยอมรับต่อผลิตภัณฑ์ การกำหนดกลุ่มผู้บริโภคจะขึ้นอยู่กับประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น ผลิตภัณฑ์ลดเลือนริ้วรอยก็จะเลือกกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุและมีปัญหาผิวริ้วรอย เป็นต้น

8. การทดสอบทางคลินิก (Clinical Testing)
     การทดสอบทางคลินิกมีเพื่อตรวจสอบข้อกล่าวอ้างของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางโดยเป็นการทดสอบในคน (in vivo) เช่น ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เคลม SPF50+ PA+++ จำเป็นต้องได้รับการทดสอบเพื่อยืนยันค่า SPF และ PA ซึ่งสามารถทดสอบแบบ in vivo ได้ หรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เคลมผ่านการทดสอบการระคายเคืองโดยแพทย์ผิวหนัง จำเป็นต้องมีผลทดสอบ dermatologically tested รวมไปถึงการทดสอบประสิทธิภาพต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ โดยการทดสอบทางคลินิกจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการทดสอบแบบ in vitro

9. การผลิตเพื่อจำหน่าย (Commercial Scale)
     เป็นการขยายขนาดการผลิต (scale up) จากบีกเกอร์ทดลองสู่ถังผสม 100 - 1000 ลิตร หรืออาจมากกว่านี้ มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ กระบวนการ และเวลาในการผลิต เพื่อรองรับการผลิตเนื้อผลิตภัณฑ์ในปริมาณที่มากขึ้น มีการชั่งส่วนผสมเตรียมไว้ให้เรียบร้อยก่อนเริ่มผลิต และระหว่างผลิตมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยติดตามกระบวนการผลิตและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิต โดยการผลิตจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการผลิตที่กำหนดไว้ดังนี้

1). วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต จะต้องมีใบ Certificate of Analysis (COA) รับรองอย่างถูกต้อง เพื่อยืนยันคุณภาพของวัตถุดิบจากผู้ผลิตและผู้ขายก่อนการรับเข้า สุ่มตรวจวัตถุดิบเพื่อทวนสอบคุณภาพวัตถุดิบทางกายภาพ (physical test) เช่น สี กลิ่น ความหนืด และทางเคมี (chemical test) เช่น การปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ โลหะหนัก สารหนู เป็นไปตามข้อกำหนดของ COA วัตถุดิบก่อนนำไปผลิตสินค้า

2). บรรจุภัณฑ์ นอกจากจะเป็นองค์ประกอบที่ช่วยเพิ่มความสวยงามให้แก่ผลิตภัณฑ์แล้ว ยังส่งผลต่อคุณภาพของเครื่องสำอาง จึงต้องมีข้อกำหนดและวิธีทดสอบคุณภาพที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าบรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่เกิดการรั่วซึม หรือปิดไม่สนิท มีการทดสอบความสวยงาม รูปลักษณ์ภายนอกของบรรจุภัณฑ์ และการทดสอบเชิงคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ (leak test) เช่น เมื่อบรรจุลงบรรจุภัณฑ์แล้ว ไม่พบการรั่วซึม ปิดไม่สนิท หากเป็นหัวปั้ม หัวกด ต้องกดเนื้อออกมาได้

3). เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต ก่อนเริ่มการผลิตทุกครั้งตรวจสอบความสะอาดและการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ รวมถึงการตรวจสุขลักษณะของพนักงานผลิตทุกคน ต้องสะอาดก่อนเข้าไลน์ผลิตทุกวัน

4). ระหว่างการผลิต ตรวจสอบการปนเปื้อนในเนื้อผลิตภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพจะควบคุมการผลิตให้ตรงตามสูตรมาตรฐานต้นตำรับของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามข้อกำหนด ตั้งแต่การชั่ง การผสม การบรรจุ และการประกอบหีบห่อ รวมถึงการส่งตรวจเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์ทั้งภายในและภายนอก

5). การทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ระยะยาว มีการเก็บตัวอย่าง (sample retention) สำหรับตรวจสอบ และติดตามผลทุกๆช่วง 6 เดือน 1 ปี และ 2 ปี เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของเนื้อผลิตภัณฑ์ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ตามค่ามาตรฐาน

6). ฝ่ายควบคุมคุณภาพ จะใช้การสุ่มตัวอย่างตามระบบ MIL-STD-105E เพื่อตรวจสอบจำนวนผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องตามข้อกำหนดคุณภาพที่ยอมรับได้ (Acceptance quality limit, AQL)  ก่อนนำส่งเข้าคลังสินค้าเพื่อจัดเก็บอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานที่กำหนด

ความแตกต่างระหว่าง Laboratory Scale และ Commercial Scale

1). เวลา
     การทดลองในห้องปฏิบัติการจะใช้เวลาที่น้อยกว่าการผลิต เช่น ในการทดลองใช้บีกเกอร์ขนาด 250 ml ใช้เวลาในการเทสารลงไปผสมไม่นานก็เข้ากันได้ดี แต่การผลิตจริงใช้ถังผสม 300 ลิตร อาจจะใช้เวลานานเป็นชั่วโมงจนถึงหลายชั่วโมงในการเติมสารต่าง ๆ ลงไปจนครบถ้วน ส่วนการให้ความร้อน (heating) และการหล่อเย็น (cooling) ในห้องปฏิบัติการอาจใช้เวลาแค่ไม่กี่นาที แต่การผลิตจริงจะใช้เวลานานหลายชั่วโมงหรือข้ามคืนจนกว่าอุณหภูมิจะถึงระดับที่กำหนดไว้อย่างทั่วถึง และใช้เวลานานกว่าจะคลายร้อนกลับมาที่อุณหภูมิห้อง รวมไปถึงการทำปฏิกิริยากันของสาร อย่างเช่น การทำเนื้อครีมที่มีลักษณะสีขาวมุกโดยการทำปฏิกิริยา sponification ในห้องปฏิบัติการจะใช้เวลาเพียง 1 วันก็เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ในการผลิตเพื่อจำหน่ายอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลง

2). ปัญหาด้านความปลอดภัย
     การทดลองมีขนาดเล็กจะมีปัญหาด้านความปลอดภัยน้อย ส่วนการผลิตจริงจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เช่น ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสารในปริมาณที่มากกว่าในห้องปฎิบัติการ ดังนั้น ความเสี่ยงและปัญหาด้านความปลอดภัยย่อมมากขึ้นตามไปด้วย เช่น ในสูตรตำรับมีการใช้สารที่เป็นกรดมาก ๆ เช่น กรดไกลโคลิก หรือ สารที่เป็นด่างมาก ๆ และยังระเหยได้ เช่น โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ แม้จะใช้ในปริมาณน้อยกว่าสารอื่น ๆ ในสูตร แต่ก็เป็นอันตรายได้หากสารโดนผิวโดยตรง รวมไปถึงสารที่มีลักษณะเป็นฝุ่นผงที่อาจเกิดการฟุ้งกระจายเมื่อเทผสมเข้าไปในถังผสม หากมีการสูดดมเข้าไปอาจเกิดปัญหากับปอดได้ ดังนั้น อุปกรณ์ความปลอดภัยจึงสำคัญมากในการผลิต เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

3). เครื่องมือในการผลิต
     เครื่องมือผสมที่ใช้ในห้องปฏิบัติการจะมีขนาดที่เล็กกว่าในการผลิตจริง ในห้องปฏิบัติการสามารถปรับความเร็วรอบในการผสม หรืออุณหภูมิที่ใช้ ย่อมใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ยิ่งการจะเพิ่มหรือลดอุณหภูมิก็ทำได้ง่ายเพราะบีกเกอร์สามารถเคลี่อนที่ได้ แต่ในการผลิตจริงนั้นถังผสมจะมีขนาดใหญ่มากและจะไม่มีการเคลี่อนที่อุปกรณ์ในระหว่างที่ทำการกวนผสมอยู่ การปรับลดอุณหภูมิก็ใช้เวลานานมากกว่า และกว่าจะผสมสารต่าง ๆ ให้เข้ากันก็ใช้เวลานาน ความเร็วรอบในการผสมก็ต้องมีการปรับใหม่เพื่อให้เข้ากับการผลิตจริง

4). ของเสีย
     ในห้องปฏิบัติการจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการใช้น้ำในการทดลอง ไม่ว่าจะเป็นตัวทำละลาย รวมไปถึงการทำความสะอาด แต่สำหรับการผลิตจริงจะมีการใช้น้ำอย่างมากในระบบ เกิดเป็นของเสียปริมาณมาก จึงต้องมีการพัฒนาเพื่อลดปริมาณน้ำในกระบวนการผลิต

10. การจัดส่ง (Ship to Trade)
     เมื่อผ่านการทดสอบทั้งหมด ผลิตภัณฑ์จะถูกขนส่งออกสู่ตลาด โดยการจัดส่งจะต้องมีความปลอดภัยต่อสินค้า เพื่อรักษาคุณภาพของผลิตภันฑ์ก่อนถึงมือลูกค้า

     เราวิจัยและพัฒนาสูตรเครื่องสำอางด้วยประสบการณ์วิจัยมายาวนานกว่า 10 ปี คัดสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดให้คุณเลือกมากกว่า 1,000 สูตร ให้สูตรเครื่องสำอางที่ TNP คิดค้น เป็นตัวเลือกสูตรพิเศษเฉพาะของคุณ เราใส่ใจผลลัพธ์ในทุกสูตรตำรับการดูแลผิวพร้อมตอบโจทย์การทำแบรนด์เครื่องสำอาง

1 .ผลิตภัณฑ์กันแดด สกินแคร์ที่ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด มีครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Hybrid Sunscreen, Physical Sunscreen และ Chemical Sunscreen กันแดดได้จริง สัมผัสใหม่ของกันแดดไม่เหนียวเหนอะหนะ

2. ผลิตภัณฑ์กระจ่างใส ฝ้า กระ จุดด่างดำ ตั้งแต่หลับจนถึงตื่นนอน เรามีทุกสูตรที่ดูแลผิวทุกช่วงเวลา ไม่เร่งการผลัดเซลล์ผิวจนทำให้ผิวลอกแพ้ง่าย ผลิตภัณฑ์ปลอดภัยต่อผู้ใช้  ให้ผิวสว่างกระจ่างใสอย่างเป็นธรรมชาติ

3. ผลิตภัณฑ์ลดเลือนริ้วรอย ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน ริ้วรอยแบบไหนเราก็เอาอยู่ เปลี่ยนร่องลึกให้ดูเรียบเนียนอ่อนเยาว์

4. ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้น ตั้งแต่สเต็ปแรกของการบำรุงผิวต้องเริ่มด้วยความชุ่มชื้น รวมทุกสูตรความชุ่มชื้นทั้งผิวหน้า ผิวกาย

5. ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ตั้งแต่หัวจรดเท้าให้เราดูแลคุณ มอบความสะอาดให้ผิวอย่างอ่อนโยน เลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ผิวสะอาดไม่มีสารตกค้าง

6. ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมีสิว ทั้งก่อนเป็นสิว ช่วงเป็นสิว หรือหลังเป็นสิว ครบทุกการดูแลวงจรสิว จะสิวที่หน้าหรือสิวที่หลังก็หายได้ด้วยสูตรที่หลากหลายในการดูแลผิวที่เป็นสิวโดยเฉพาะ

7. ผลิตภัณฑ์ตกแต่งผิว โดดเด่นด้านรองพื้น ปกปิดดีเยี่ยม ผิวไม่ดรอป พร้อมฟิกซ์ผิวให้เป๊ะตลอดวัน

8. ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและหนังศีรษะ แชมพู ครีมนวดผม เซรั่มบำรุงผม สูตรพิเศษโดดเด่นกว่าใคร ให้ผมแข็งแรงสุขภาพดี

9. ผลิตภัณฑ์พอกผิว ชีทมาส์ก ครีมมาส์ก ผงมาส์ก มีทุกรูปแบบให้เลือกสรรค์ หลากหลายสูตรการบำรุงผิว

10. ผลิตภัณฑ์กัญชงกัญชา ตอบโจทย์พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ค้นหาและคัดเลือกจากแหล่งที่มีคุณภาพและถูกกฎหมาย นำมาประยุกต์ใช้กับทุกสูตรการดูแลผิว

11. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมสมุนไพรจากทั่วทุกมุมโลกให้เลือก เพื่อสูตรพิเศษของคุณ พร้อมผสานนวัตกรรมเนื้อเบสเข้ากับสมุนไพรเพื่อดึงประสิทธิภาพการบำรุงสูงสุด

12. ผลิตภัณฑ์สำหรับช่องปาก ดูแลฟันทุกซี่ให้ขาวสะอาด ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก มีครบทุกการดูแล โดดเด่นด้วยเนื้อแบบใหม่ไม่โบราณ

13. ผลิตภัณฑ์เด็ก สูตรพิเศษสำหรับการดูแลผิวลูกรัก รวมทุกการดูแลตั้งแต่ทำความสะอาดหัวจรดเท้าอย่างอ่อนโยนไม่ระคายเคือง บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ลดรอยแดงจากยุงกัด และกันแดด ให้ผิวลูกรักสุขภาพดีคุณแม่ไว้วางใจ

14. ผลิตภัณฑ์เฉพาะจุด สร้างสรรค์แก้ปัญหาผิวเฉพาะที่อย่างอ่อนโยน ใต้วงแขน ข้อศอก จุดซ่อนเร้น หลังคอ จุดอ่อนโยนเฉพาะ ขาหนีบ ง่ามขา ร่องก้น แตกต่างตอบโจทย์ตลาดเฉพาะ เข้าถึงง่าย

     ให้สูตรเครื่องสำอางที่ TNP คิดค้น เป็นตัวเลือกสูตรพิเศษเฉพาะของคุณ เราใส่ใจผลลัพธ์ในทุกสูตรตำรับการดูแลผิวพร้อมตอบโจทย์การทำแบรนด์เครื่องสำอาง

บทความที่เกี่ยวข้อง
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.24 การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอน การทดสอบทางประสาทสัมผัส (Sensory Evaluation)
การที่จะออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสูตรใหม่นั้นไม่ง่ายเลย ต้องมีการทดสอบมากมาย และหนึ่งในการทดสอบที่สำคัญคือ การทดสอบทางประสาทสัมผัส เป็นเสมือนการทดลองใช้ก่อนวางขายจริง
6 Aug 2024
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.27 การจดแจ้งชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง (FDA Registration)
ชื่อเครื่องสำอางที่แปลกใหม่จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้ตัวผลิตภัณฑ์ แต่การจะตั้งชื่อได้นั้นก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายให้ถูกต้อง
25 Jun 2024
11 Ingredients ที่เป็นประเด็นกับความยั่งยืน
ด้วยสภาวะโลกที่ร้อนมากขึ้นและทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกอย่างจำกัด ทำให้เครื่องสำอางเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะยืนหยัดเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีหลายแบรนด์ที่เปลี่ยนส่วนผสมเครื่องสำอางที่ไม่ยั่งยืนให้ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพที่ดีกับผู้ใช้
25 Jun 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ