การทดสอบทางชีวภาพในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อคงสภาพเนื้อผลิตภัณฑ์ให้อยู่ได้นานตามวันหมดอายุ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จึงมีสารต้านเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อให้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ และรา หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ระหว่างเปิดใช้ผลิตภัณฑ์ ความคงสภาพทางชีวภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะตำรับเครื่องสำอางต้องไม่มีเชื้อจุลินทรีย์เกิดขึ้น และต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ใน EP. นี้ จะพูดถึงวิธีการทดสอบทางจุลชีววิทยา เชื้อจุลินทรีย์ และสารกันเสียที่ใช้ในเครื่องสำอาง
International Organization for Standardization (ISO)
มาตรฐาน ISO ฉบับล่าสุดที่ใช้กับเครื่องสำอางตอนนี้คือ ISO 17516: 2014 เรียกวิธีตรวจหาปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ว่า "Microbiological Limits"
United States Pharmacopeia (USP)
มาตรฐาน USP จะไม่เจาะจงว่าเป็นเครื่องสำอาง แต่จะเรียกว่า ผลิตภัณฑ์ไม่ปราศจากเชื้อที่ใช้กับผิวหนัง เรียกวิธีตรวจหาปริมาณเชื้อว่า "Microbial Enumeration Tests"
Thai Herbal Pharmacopoeia (THP)
มาตรฐาน THP ใช้คําว่า ผลิตภัณฑ์ยาไม่ปราศจากเชื้อที่ใช้กับผิวหนัง ทั้งที่มีและไม่มีสมุนไพร และเรียกวิธีตรวจหาปริมาณเชื้อว่า "Microbial Limit Tests" โดยแบ่งขีดจำกัด 2 แบบ ผลิตภัณฑ์ยาไม่ปราศจากเชื้อที่ใช้กับผิวหนังเต็ม และ ผลิตภัณฑ์ยาไม่ปราศจากเชื้อที่ใช้กับผิวหนังเต็มที่มีสมุนไพร
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ.2559
1. ให้เครื่องสำอางที่มีคุณสมบัติทางจุลชีววิทยาตามที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ เป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย
(1) เครื่องสำอางที่ตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค ดังต่อไปนี้
ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa)
สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)
แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans)
คลอสตริเดียม (Clostridium spp.) (เฉพาะเครื่องสำอางสมุนไพร)
(2) เครื่องสำอางที่ใช้บริเวณรอบดวงตา เครื่องสำอางที่สัมผัสเยื่อบุอ่อน และเครื่องสำอางสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ที่ตรวจพบจำนวนรวมของแบคทีเรีย ยีสต์ และรา ที่เจริญเติบโตโดยใช้อากาศ (Total aerobic plate count) มากกว่า 500 โคโลนีต่อกรัม หรือลูกบาศก์เซนติเมตร ขึ้นไป
(3) เครื่องสำอางอื่น นอกเหนือจากที่กำหนดใน (2) ที่ตรวจพบจำนวนรวมของแบคทีเรีย ยีสต์ และรา ที่เจริญเติบโตโดยใช้อากาศ (Total aerobic plate count) มากกว่า 1,000 โคโลนีต่อกรัม หรือลูกบาศก์เซนติเมตร ขึ้นไป
2. คุณสมบัติทางจุลชีววิทยาตามข้อ 1 ให้ทดสอบตามวิธีที่ระบุไว้ในมาตรฐาน International Organization for Standardization (ISO) หรือ United States Pharmacopeia (USP) ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ฉบับล่าสุด หรือวิธีอื่นที่เป็นมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับ
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ทาบำรุงผิว
กำหนดคุณลักษณะที่ต้องการทางจุลชีววิทยาไว้ดังนี้
1. จำนวนรวมของแบคทีเรีย ยีสต์และราที่เจริญโดยใช้อากาศ (aerobic plate count) ต้องไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัมหรือโคโลนีต่อลูกบาศก์เซนติเมตร
2. ต้องไม่พบจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค ดังต่อไปนี้
(1) ซูโดโมแนส แอรูชิโนซา (Pseudomonas aeruginosa)
(2) สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)
(3) แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans)
(4) คลอสตริเคียม (Clostridium spp.) (เฉพาะเครื่องสำอางผสมสมุนไพร)
เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถพบเชื้อจุลินทรีย์ได้แต่ต้องอยู่ในขีดจำกัดและจำเป็นต้องใส่สารกันเสีย หากการปนเปื้อนจุลินทรีย์เกินขีดจำกัดและสารกันเสียไม่มีประสิทธิภาพ จุลินทรีย์ที่อยู่ในเนื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจะเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมีของผลิตภัณฑ์ เช่น กลิ่นและสีเปลี่ยนไป มีการตกตะกอนหรือแยกชั้น เป็นต้น
วิธีการทดสอบทางจุลชีววิทยา แบ่งออกเป็น 2 แบบ
1. การตรวจเชิงปริมาณ
การควบคุมคุณภาพของเครื่องสําอางเชิงปริมาณคือ การตรวจหาปริมาณเชื้อในเครื่องสําอางและการประเมินประสิทธิภาพของสารกันเสียในเครื่องสําอาง โดยใช้มาตรฐาน ISO
เชื้อจุลินทรีย์บางชนิดทําให้คุณสมบัติทางเคมีและกายภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสําอางเปลี่ยนแปลงไป เช่น สีและกลิ่นเปลี่ยน แยกชั้นและตกตะกอน ค่า pH เปลี่ยน เป็นต้น และยังเป็นอันตรายต่อมนุษย์ จึงเป็นเชื้อที่ห้ามพบในเครื่องสำอาง มีดังนี้
ซูโดโมแนส แอรูชิโนซา (Pseudomonas aeruginosa)
สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)
แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans)
คลอสตริเดียม (Clostridium spp.)
เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli)
จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข "วัตถุกันเสีย" หมายความว่า วัตถุที่ใช้ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในเครื่องสำอาง โดยวัตถุกันเสียหรือสารกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางต้องเป็นไปตามที่กำหนด ซึ่งวัตถุกันเสียที่พบเห็นได้บ่อย เช่น
Phenoxyethanol ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ดี แต่ยับยั้งยีสต์และราได้ไม่ค่อยดี เหมาะสำหรับเครื่องสำอางที่ใช้กับผิวและผม
Parabens เหมาะสำหรับเครื่องสำอางที่เชื้อจุลินทรีย์เข้าถึงได้ง่าย เช่น สบู่ก้อน ตัวที่อนุญาตให้ใช้ เช่น Methylparaben, Ethylparaben, Butylparaben และ Propylparaben เป็นต้น ส่วน Phenylparaben, Benzylparaben, Pentylparaben, Isopropylparaben และ Isobutylparaben ห้ามใช้ในเครื่องสำอาง
Sodium Benzoate และ Potassium Sorbate เหมาะกับการใช้เป็นสารกันเสียในผลิตภัณฑ์ที่ต้องสัมผัสกับปาก หรือเข้าปาก
Chlorphenesin ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีทั้งแบคทีเรีย ยีสต์ และรา เหมาะสำหรับเครื่องสำอางที่ใช้กับผิวและผม
Polyhexamethylene biguanide hydrochloride (PHMB) เป็นสารกันเสียที่อ่อนโยน ยับยั้งเชื้อโรคได้กว้างรวมไปถึงไวรัส ลดกลิ่นที่เกิดจากแบคทีเรีย เหมาะสำหรับเครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตา
Iodopropynyl Butyl Carbamate ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ได้อย่างครอบคลุม เหมาะสำหรับเครื่องสำอางล้างออก
DMDM Hydantoin ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ได้อย่างครอบคลุม ออกฤทธิ์ที่ pH 3-9 เหมาะสำหรับเครื่องสำอางที่ใช้กับผิว มีข้อเสียคือปลดปล่อย formaldehyde ออกมา
o-Cymen-5-ol หรือ Isopropyl methylphenol สารที่พบได้ในต้น Thyme มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค มีความปลอดภัยสูง ใช้ได้กับทุกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปราศจากเชื้อ การปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์จึงเป็นหนึ่งในปัญหาที่สําคัญในอุตสาหกรรมเครื่องสําอาง ดังนั้นจึงต้องมีการทดสอบทางชีวภาพ เพื่อประเมินความคงตัวและความเสี่ยงของเครื่องสําอางทางจุลชีววิทยา เป็นหนึ่งในการประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องสําอาง ให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสําอางมีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
รวบรวมเนื้อหาจากแหล่งที่มา