แชร์

R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.16 ผลิตภัณฑ์เด็ก (Baby Care Products)

อัพเดทล่าสุด: 25 มิ.ย. 2024
834 ผู้เข้าชม
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.16 ผลิตภัณฑ์เด็ก (Baby Care Products)

     ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทพิเศษพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผิวที่บอบบางของเด็ก เน้นดูแลผิวมากกว่าเพื่อความสวยงาม ปัจจุบันเครื่องสำอางสำหรับเด็กเป็นสิ่งที่ค่อนข้างได้รับความสนใจในตลาดในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กมุ่งเน้นไปที่ความปลอดภัยและอ่อนโยนกับเด็ก ใน EP.16 นี้ TNP จะอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างผิวเด็กและผู้ใหญ่ และผลิตภัณฑ์เด็กประเภทต่างๆ ที่วางขายในตลาด

     ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับเด็กเป็นสินค้าที่ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับเด็ก มีความปลอดภัย เหมาะสมสำหรับผิวและการใช้งานสำหรับเด็กและผู้ปกครอง โดยปกติแล้วผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับเด็กจะมีความอ่อนโยนและเป็นมิตรต่อผิวเด็กที่บอบบาง มีส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติเพื่อลดความเสี่ยงในการทำให้เกิดผิวแพ้หรือปัญหาอื่น ๆ อีกทั้งยังมีการใช้สีสันและกลิ่นที่เหมาะสมกับเด็กด้วย ส่วนใหญ่แล้วผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กจะมีการรับรองความปลอดภัยจากองค์กรทางการแพทย์และองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องสำอางเหล่านั้นปลอดภัยสำหรับเด็ก และยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองของเด็กด้วยเช่นกัน

 โครงสร้างผิว 

      ผิวชั้นนอกของเด็กทารกนั้นบางกว่าของผู้ใหญ่ 20-30% และชั้นผิว stratum corneum บางกว่าของผู้ใหญ่ประมาณ 30% เซลล์ในชั้นนี้ก็มีขนาดที่เล็กกว่า เซลล์เมลาโนไซต์ผลิตเม็ดสีเมลานินออกมาน้อยกว่าดังนั้น ทารกแรกเกิดถึงมีสีผิวที่ซีดหรือสีชมพูอ่อน เมื่อเติบโตขึ้นจึงจะผลิตเม็ดสีมากขึ้น นอกจากนี้มีการผลัดเซลล์ผิวที่รวดเร็วกว่าผิวผู้ใหญ่ ผิวไม่สามารถป้องกันแสงแดดได้อย่างเต็มที่ ภูมิคุ้มกันพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว เส้นใยอิลาสตินและคอลลาเจนมีความหนาแน่นต่ำกว่า เนื่องจากผิวเด็กทารกยังไม่ได้พัฒนาอย่างสมบูรณ์ ทำให้ป้องกันการสูญเสียความชุ่มชื้นในผิวได้ไม่ดี และผิวยังซึมซับสารเคมีได้อย่างง่ายดาย จึงทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองและแพ้ได้ง่าย นอกจากนี้ ผิวเด็กทารกเมื่อโดนแสงแดดที่มีค่า UV index ที่สูง จะไหม้แดดได้ง่ายและเกิดอาการแสบร้อนที่ผิวขึ้น

องค์ประกอบผิว

     ผิวทารกแรกคลอดมีปริมาณน้ำในผิวที่น้อยกว่าของผู้ใหญ่อย่างมาก หลังจากนั้นปริมาณน้ำในผิวจะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น จนถึง 3 เดือน เป็นช่วงที่ผิวมีความชุ่มชื้นมากกว่าผิวผู้ใหญ่ ต่อมไขมันผลิตไขมันได้น้อยลง และ NMF ที่ทำหน้าให้ความชุ่มชื้นผิวนั้นต่ำกว่าผิวผู้ใหญ่ ไขมันในผิวผู้ใหญ่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้นและปกป้องผิวจากการสูญเสียความชุ่มชื้น ในทางตรงกันข้าม ผิวทารกมีการผลิตไขมันในผิวน้อย ทำให้ผิวทารกมีความแห้ง จำเป็นต้องรักษาความชุ่มชื้นโดยการใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นสำหรับเด็กทารก นอกจากนี้ค่า pH ของทารกแรกเกิดจะอยู่ในช่วง 6.34 - 7.5 หลัง 2 สัปดาห์ผ่านไป ค่า pH ถึงจะเข้าสู่สภาวะที่เป็นกรดมากขึ้น ประมาณ 5.0 ซึ่งคล้ายกับค่า pH ของผิวผู้ใหญ่

 หน้าที่ในผิว 

     ผิวของเด็กทารกนั้นมีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้ไม่ดี แม้ผิวจะมีความชุ่มชื้นสูง ดูดซับน้ำได้มากกว่าผิวผู้ใหญ่ แต่ก็สูญเสีญความชุ่มชื้นนั้นได้อย่างง่ายดายเช่นกัน นอกจากนี้ ผิวของผู้ใหญ่มีระบบป้องกันผิวตามธรรมชาติที่ดีกว่าเด็กทารก โดยมีการสร้างกรดไขมันธรรมชาติบนผิวที่ช่วยในการป้องกันการสูญเสียความชุ่มชื้นและป้องกันการซึบซับของสารอันตราย รวมถึงป้องกันเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ผิวได้ดีกว่า ในด้านของความต้านทานของผิวต่อสิ่งแวดล้อม ผิวของเด็กทารกมีความต้านทานต่อสิ่งแวดล้อมที่น้อยกว่าผิวผู้ใหญ่ นั่นเพราะผิวของเด็กยังไม่มีการปรับตัวเต็มที่เพื่อดูแลและปกป้องตัวเองจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อันเป็นตัวเร่งให้เกิดการระคายเคืองผิวหรืออาการแดง และเป็นเหตุให้เกิดการแพ้ได้ง่ายขึ้น

 ความแตกต่างระหว่างผมเด็กทารกและผมผู้ใหญ่ 

     เส้นขนและเส้นผมของเด็กทารกจะมีสีอ่อน เรียกขนชนิดนี้ว่า vellus ซึ่งปกคลุมไปทั่วร่างกาย และขนนี้จะหลุดร่วงไปเมื่อทารกอายุได้ประมาณ 8 สัปดาห์ หลังจากนั้นเส้นขนและเส้นผมจะเข้าสู่กระบวนการแบบของผู้ใหญ่ ในเด็กทารกจำนวนรูขุมขนมีมากกว่าของผู้ใหญ่ ดังนั้นสารต่างๆ จะซึมลงไปได้มากกว่าผิวผู้ใหญ่ บริเวณหนังศีรษะผลิตไขมันได้น้อยจึงไม่มีความมันมาก จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารทำความสะอาดที่รุนแรง

 ความแตกต่างอื่นๆ 

 สิว 
     ทารกแรกเกิดในบางรายจะพบสิวเกิดขึ้นได้ในช่วง 2 สัปดาห์หลังคลอด เรียกสิวนี้ว่า Acne neonatorum สามารถพบได้ถึง 20% ของทารกแรกเกิด โดยปกติจะหายไปภายในไม่กี่เดือน สาเหตหลักเกิดจากฮอร์โมนแอนโดรเจนไปกระตุ้นต่อมไขมันของทารก สิวนี้เกิดได้ทั้งใบหน้า คอ หน้าอก และหลัง ในทารกเพศชายมีโอกาสเกิดสิวได้มากกว่าทารกเพศหญิง หลังจากสิวชนิดนี้หายไป ช่วงที่จะเกิดสิวอีกครั้งคือช่วงวัยรุ่น

 ตา 
     เด็กทารกมีดวงตาที่เปราะบางมาก ปฎิกิริยาในการกระพริบตาช้ากว่าผู้ใหญ่มาก ในระหว่างการอาบน้ำสระผมจึงควรระวังสารทำความสะอาดที่อาจเผลอเข้าตาเด็กทารกได้ โดยบังเอิญ ผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้ควรมีความอ่อนโยนเป็นพิเศษ ไม่มีสารทำความสะอาดที่รุนแรงและปราศจากสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง

โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งออกตามช่วงอายุ ดังนี้

ผลิตภัณฑ์สำหรับทารกและเด็กเล็ก (0-2 ปี) ผิวของกลุ่มนี้บอบบางมากที่สุด ผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่ต้องเหมาะกับผิวและผลิตภัณฑ์ป้องกันอาการระคายเคือง

ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก (2-11 ปี) อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวและผมที่เหมาะสม ผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวจากความแห้ง

ผลิตภัณฑ์สำหรับวัยรุ่น (12-18 ปี) อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลสิว เนื่องจากฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวและผม ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้น

     ผลิตภัณฑ์ดูแลเด็กมีความสำคัญในการรักษาเกราะป้องกันของผิวและป้องกันไม่ให้แบคทีเรีย สารก่อภูมิแพ้ อนุภาค มลพิษ และสารภายนอกอื่นๆ เข้าสู่ร่างกาย ที่สำคัญเด็กทารกเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวตัวเองไม่ได้ คุณแม่จึงเป็นผู้ที่ควรใส่ใจผิวของลูกให้มากที่สุด พิจารณาผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทเพื่อดูแลผิวลูกน้อยอย่างเหมาะสม

 

ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

 1. ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด 

     ออกแบบมาเพื่อทำความสะอาดผิวและผมของเด็กทารก ทำความสะอาดคราบน้ำลาย เหงื่อ น้ำมูก ปัสสาวะ อุจจาระ แบคทีเรีย คราบนม และสิ่งสกปรกอื่นๆ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดควรมีสารลดแรงตึงผิวหรือสารทำความสะอาดที่อ่อนโยน หลีกเลี่ยงน้ำหอมและสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ได้แก่ ครีมอาบน้ำเด็ก แชมพู และผ้าเช็ดทำความสะอาด

   ผลิตภัณฑ์อาบน้ำเด็ก (baby bath products)

     สำหรับการอาบน้ำเด็ก อุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมคือ 38 - 40 °C และควรจำกัดเวลาอาบน้ำไว้ที่ 5 - 10 นาที ผลิตภัณฑ์อาบน้ำเด็กไม่จำเป็นต้องมีฤทธิ์ในการทำความสะอาดสูง เนื่องจากระดับความสกปรกของผิวทารกโดยทั่วไปจะต่ำเมื่อเทียบกับผิวของผู้ใหญ่ ด้วยเหตุผลเดียวกัน จึงไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสำหรับผู้ใหญ่กับผิวทารก สารลดแรงตึงผิวที่มีประจุลบที่แรงจะมีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดได้สูงมาก ชำระล้างไขมันและดึงความชุ่มชื้นออกจากผิวได้มาก นอกจากยี้ยังสามารถแทรกตัวเข้าไปในผิวของเด็กทารกได้อีกด้วย จากสาเหตุดังกล่าวอาจส่งผลให้เกราะป้องกันผิวของเด็กทารกพัฒนาได้ไม่เต็มที่หรือเกิดการหยุดชะงักขึ้น อาจเกิดอาการต่างๆ เช่น ผิวระคายเคือง แห้ง แดง และคัน
     ผลิตภัณฑ์อาบน้ำเด็กควรอ่อนโยนต่อผิว ไม่ทำให้ผิวแห้งตึง และไม่ระคายเคืองต่อดวงตา ดังนั้นสารทำความสะอาดที่ให้ความอ่อนโยนสูงจะเป็นประเภท amphoterics (เช่น cocamidopropyl betaine) และ nonionics (เช่น polyethylene glycol (PEG)-80 sorbitan laurate) หรือจะเป็นกลุ่มประจุลบอ่อนๆ ก้ได้เช่นกัน (เช่น disodium laureth sulfosuccinate, sodium cocoyl isethionate) ในส่วนของสบู่ก้อนนั้นไม่เป็นที่นิยมเพราะมีค่า pH เป็นด่างสูงถึง 8 - 12  มีความรุนแรงต่อผิวเด็กทารก สามารถทำลายเกราะป้องกันผิวได้

   แชมพูสำหรับเด็ก (baby shampoo)

     หนังศีรษะเด็กทารกมีไขมันน้อยกว่าของผู้ใหญ่และไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดทุกวัน จึงไม่ต้องการการทำความสะอาดที่มากเกินไป ควรใช้แชมพูสูตรอ่อนโยน ล้างออกได้ง่าย ไม่ระคายเคืองดวงตา สามารถใช้สารลดแรงตึงผิวกลุ่มเดียวกับผลิตภัณฑ์อาบน้ำได้ แชมพูเด็กทารกไม่ต้องเน้นฟองโฟมเพราะผมมีน้อย ผู้ใหญ่บางคนอาจคิดว่าแชมพูเด็กนั้นมีประสิทธิภาพต่ำทำความสะอาดได้ไม่ดี แน่นอนว่าการนำผลิตภัณฑ์เด็กทารกไปใช้กับผิวผู้ใหญ่นั้นไม่เหมาะสม เพราะสภาพผิวมีความแตกต่างกัน การดูแลจึงแตกต่างกันนั่นเอง

   ผ้าเช็ดทำความสะอาดสำหรับเด็ก (baby wipe)

     เป็นผ้าสำหรับใช้แล้วทิ้ง เติบโตเร็วมากในตลาดเด็ก เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่บรรดาคุณแม่ต่างชื่นชอบ สามารถใช้เช็ดทำความสะอาดได้อย่างง่ายดาย ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองกับผิวเด็กทารก และยังอ่อนโยนอีกด้วย

   ยาสีฟันสำหรับเด็ก (baby toothpaste)

     เด็กทารกจะมีฟันน้ำนม (primary teeth) ตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา เมื่ออายุครรภ์ 6 สัปดาห์ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นมาในช่องปาก เมื่อเด็กอายุ 4-8 เดือน จะทยอยขึ้นจนครบ 20 ซี่ เมื่อเด็กอายุ 2-3 ปี การดูแลฟันน้ำนมให้อยู่ในช่องปากได้จนถึงวาระที่ฟันน้ำนมโยกหลุดไปตามธรรมชาติ จะช่วยให้ฟันถาวรที่ขึ้นมาในช่องปากมีการเรียงตัวเป็นระเบียบ โดยยาสีฟันต้องมีปริมาณฟลูออไรด์ที่เหมาะสมเพื่อให้ฟันลูกน้อยสุขภาพดี โดยทั่วไป ปริมาณฟลูออไรด์สำหรับเด็กจะต้องต่ำกว่า 1,000 ppm เพื่อป้องกันการได้รับปริมาณฟลูออไรด์มากเกินไปจนเกิดฟันตกกระ เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ควรใช้ยาสีฟันปริมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียวและมีผู้ใหญ่ดูแลขณะแปรงฟัน ในกรณีที่เด็กได้รับสารฟลูออไรด์จากแหล่งอื่นด้วย ให้ปรึกษาแพทย์หรือทันตแพทย์
     ตัวอย่างสารประกอบฟลูออไรด์ ได้แก่ ammonium monofluorophosphate, sodium monofluorophosphate, potassium monofluorophosphate, calcium monofluorophosphate, calcium fluoride, sodium fluoride, potassium fluoride, ammonium fluoride, aluminum fluoride, stannous fluoride, sodium hexafluorosilicate, potassium hexafluorosilicate, ammonium hexafluorosilicate, และ magnesium fluoride

 Did You Know รู้หรือไม่? 

     ฟันตกกระ (dental fluorosis) คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นเนื่องจากการได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่มากเกินปกติเป็นระยะเวลานานช่วงระหว่างการสร้างฟัน (วัยเด็ก) ซึ่งฟลูออไรด์ที่ได้รับจะไปขัดขวางการสร้างชั้นเคลือบฟัน (enamel) ทำให้ผิวเคลือบฟันเกิดเป็นรูพรุน และแสดงออกมาเป็นบริเวณที่มีสีขาวขุ่น โดยผิวเคลือบฟันบริเวณดังกล่าวจะมีความแข็งแรงน้อยกว่าปกติ เสี่ยงต่อการสูญเสียชั้นเคลือบฟันได้ง่าย

 2. ผลิตภัณฑ์ปกป้อง 

     ออกแบบมาเพื่อปกป้องผิวของเด็กทารก ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในผิว ป้องกันผิวแห้ง เน้นความอ่อนโยนต่อผิวของเด็กทารกเป็นหลักและมีประสิทธิภาพที่เห็นผลจริง ผลิตภัณฑ์ปกป้อง ได้แก่ โลชั่นเพิ่มความชุ่มชื้น ครีม ครีมทาผื่นผ้าอ้อม ครีมกันแดด และแป้งเด็ก

   โลชั่นสำหรับเด็ก (baby lotions)

     โลชั่นและครีมสำหรับผิวเด็กทารกจะ เน้นให้ความชุ่มชื้นเป็นหลัก ช่วยลดการสูญเสียน้ำในผิว สารที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้นอย่างเช่น กลีเซอรีน วิตามินอี และเซราไมด์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังผสมสารที่ช่วยปลอบประโลมและต้านการอักเสบ เช่น อลันโทอิน แพนทีนอล และสารสกัดจากธรรมชาติ

   ครีมสำหรับผิวผื่นผ้าอ้อม (diaper rash creams)

     ผื่นผ้าอ้อมเป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กทารก มักเกิดบริเวณขาหนีบ ต้นขา และก้น เป็นต้น เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น จากความเปียกชื้นที่สะสมในผ้าอ้อม หรือไม่ได้ ทำการเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือแพมเพิสบ่อยๆ นั่นเอง ทำให้ผิวหนังเสียดสีกับผ้าอ้อมจนเกิดการระคายเคือง มีผื่นแดง หรืออีกกรณีเกิดจากการเจริญเติบโตของแบคทีเรียสายพันธุ์ Candida, Staphylococcus, และ Streptococcus หากปล่อยไว้เด็กทารกจะเกิดอาการไม่สบายตัว และอาจเกิดแผลขึ้นในที่สุด หลีกเลี่ยงโดยการเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือแพมเพิสให้บ่อยขึ้น ใช้ครีมที่มีส่วนผสมในการป้องกันผื่นผ้าอ้อม เช่น อลันโทอิน 0.5-2% หรือสารสกัดธรรมชาติที่ช่วยปลอบประโลมผิวอย่างอ่อนโยน เช่น ว่านหางจระเข้ ชะเอมเทศ ใบบัวบก คาโมมายล์ เป็นต้น

   แป้งเด็ก (baby powder)

     แป้งเด็กเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน และเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง หน้าที่ของแป้งคือช่วยดูดซับความชื้นที่หลงเหลืออยู่บนผิว ให้ผิวลื่น ไม่เสียดสีกับผ้า และป้องกันการระคายเคือง ส่วนผสมหลักๆ ที่พบเห็นได้ตามทั่วไปในท้องตลาดคือแป้งทัล แป้งข้าวโพด และแป้งข้าว ส่วนผสมเพิ่มเติม เช่น สารสกัดว่านหางจระเข้ อลันโทอิน และกลิ่นหอม เป็นต้น

   ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดสำหรับเด็ก (sunscreens for baby)

     แสงยูวีทะลุผ่านผิวของเด็กทารกได้ง่ายกว่าผิวผู้ใหญ่ ทำให้ผิวเด็กทารกมีความเสี่ยงต่อแสงแดดมากกว่า เด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดด้วยการอยู่ในบ้าน หากออกไปนอกบ้านควรปกคลุมร่างกายให้มิดชิด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าแขนยาว การใส่หมวกคลุมศีรษะ และทาครีมกันแดดในส่วนที่ร่างกายไม่ได้รับการปกคลุม ครีมกันแดดที่ดีควรป้องกันได้ทั้งรังสียูวีเอและบี สารกันแดดที่เหมาะสมสำหรับผิวเด็กทารกคือสารกันแดดแบบภายภาพ ได้แก่ ซิงค์ออกไซด์ (zinc oxide) และไททาเนียมไดออกไซด์ (titanium dioxide) สารกันแดดประเภทนี้จะไม่ซึมเข้าสู่ผิว ซึ่งช่วยลดอาการระคายเคืองหรืออาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ครีมกันแดดได้

     เนื่องจากผิวเด็กมีความบอบบางจึงต้องพิจารณาหลาย ๆ จุด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน มีความปลอดภัยต่อผิวบอบบางนั่นเอง

  1. ใช้สารที่มีความปลอดภัยต่อผิวเด็กทารก
  2. หลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง สารที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ และการก่อภูมิแพ้ เช่น sodium lauryl sulfate, ethanol, preservatives, fragrances เป็นต้น
  3. ในผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำเป็นส่วนผสมควรใช้ชนิดและปริมาณของสารกันเสียที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผิวเด็ก
  4. หากไม่ใส่สารกันเสียในสูตรผลิตภัณฑ์เลยจะทำให้จุลินทรีย์มีการเจริญเติบโตได้ เกิดการปนเปื้อนแบคทีเรียขึ้น
  5. สารทึ่มาจากธรรมชาติควรใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากไม่ได้รับการทดสอบกับผิวของเด็กทารก จึงไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัย
  6. สูตรผลิตภัณฑ์ควรอ่อนโยน และค่า pH ของเนื้อผลิตภัณฑ์ควรใกล้เคียงกับค่า pH ตามธรรมชาติของผิว
  7. หลีกเลี่ยงสารที่เพิ่มการซึมผ่านเข้าสู่ผิว และสารที่สามารถซึมเข้าสู่ผิวได้อย่างง่ายดาย เช่น urea และ propylene glycol เนื่องจากอาจนำไปสู่การระคายเคืองและอักเสบได้
  8. ทุกสูตรผลิตภัณฑ์ไม่ควรก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตาของเด็กทารก เพราะช่วง 1 ปีแรก ดวงตาของเด็กทารกยังไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมได้อย่างว่องไว
  9. ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า pH สูง เช่น สบู่ก้อน ค่าความเป็นด่างที่สูงเกินไปสำหรับผิวบอบบางจะรบกวนเกราะป้องกันผิว และยังดึงความชุ่มชื้นในผิวออกมาจนเกินไป ทำให้ผิวแห้งกร้านจนเกิดการระคายเคือง
  10. หลีกเลี่ยงสารที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้ต่อผิวบอบบาง เช่น น้ำหอม สารกันเสีย สารมอยส์เจอไรเซอร์บางชนิด เช่น โพรพิลีนไกลคอลและลาโนลิน
  11. แบคทีเรียและสิ่งสกปรก สิ่งเหล่านี้เมื่อเกาะติดอยู่บนผิวเด็กทารกอาจนำไปสู่การระคายเคือง ผิวแดง มีอาการคัน เกิดการอักเสบ และติดเชื้อได้ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการกำจัดสิ่งสกปรกเหล่านี้ การรักษาความสะอาดอยู่เสมอจะช่วยลดและป้องกันการแพร่เชื้อของจุลินทรีย์ได้ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนจะไม่ทำลายเกราะป้องกันผิว และไม่เปลี่ยนแปลงความชุ่มชื้นและค่า pH ของผิวด้วย แพทย์ผิวหนังแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแบบเหลว มีค่า pH เป็นกลาง หรือเป็นกรดอ่อนๆ
  12. ผิวของเด็กทารกไม่สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีการใช้สารอื่น ๆ เข้ามาช่วยลดการสูญเสียน้ำในผิว สารที่นิยมใช้อยู่ในกลุ่มของ emollient เป็นสารให้ความชุ่มชื้นผิวที่มีประสิทธิภาพ ช่วยเคลือบชั้นผิวบางๆ ลดการระเหยของน้ำ ให้ผิวคงความชุ่มชื้นได้นานขึ้น และยังสามารถส่งเสริมการทำงานของเกราะป้องกันผิวได้อีกด้วย
  13. รังสียูวีเป็นอีกสิ่งที่น่ากังวลใจ ด้วยผิวที่บอบบางของเด็กทารก ความเสี่ยงในการเกิดผิวไหม้แดดรวมไปถึงความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังย่อมสูงกว่าผิวของผู้ใหญ่ ผู้ปกครองจึงควรให้ความสำคัญในการป้องกันรังสียูวี ครีมกันแดดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยปกป้องผิวเด็กทารกจากแสงแดดได้ ซึ่งครีมกันแดดที่เลือกใช้ควรมีการทดสอบความปลอดภัย หรือทดสอบความระคายเคือง เพื่อความปลอดภัยต่อผิวบอบบาง

     การดูแลผิวเด็กเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความใส่ใจอย่างละเอียดอ่อน ดังนั้น การเลือกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับเด็กจึงต้องดูว่ามีความอ่อนโยนและปลอดภัย ที่สำคัญการดูแลผิวเด็กคือการรักษาความสะอาดอยู่เสมอ พร้อมป้องกันไม่ให้ผิวเสียความชุ่มชื้นจนแห้ง และระมัดระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองต่อผิวของเด็ก ที่ TNP มีผู้เชี่ยวชาญในด้านผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ใส่ใจในทุกรายละเอียดของผลิตภัณฑ์

 

สนใจอยากสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก คลิ๊กเข้ามาได้เลย!

บทความที่เกี่ยวข้อง
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.28 ข้อควรรู้! สารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอาง
สารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอางมีอะไรบ้าง? ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อหรือเริ่มต้นสร้างแบรนด์ ใน EP.28 นี้ TNP ได้สรุปสารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอางประเภทต่างๆ มาให้แบบเข้าใจง่าย
9 ต.ค. 2024
ศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางที่น่าไว้วางใจ
สร้างแบรนด์แตกต่างด้วยคำว่า พิสูจน์ได้ บริการส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์มีเอกสารรับรอง ศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางที่น่าเชื่อถือ
8 ต.ค. 2024
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.24 การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอน การทดสอบทางประสาทสัมผัส (Sensory Evaluation)
การที่จะออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสูตรใหม่นั้นไม่ง่ายเลย ต้องมีการทดสอบมากมาย และหนึ่งในการทดสอบที่สำคัญคือ การทดสอบทางประสาทสัมผัส เป็นเสมือนการทดลองใช้ก่อนวางขายจริง
6 ส.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ