การรักษาฟันและช่องปากให้สะอาดและสดชื่นเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของผู้คนในอดีตจวบจนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ดูแลฟันและช่องปากมีหน้าที่ในการทำความสะอาดเป็นหลัก ช่วยขจัดเศษอาหารที่ตกค้างและขัดฟันให้ขาวปราศจากคราบหินปูน เพื่อป้องกันฟันผุและเหงือกอักเสบ ผลิตภัณฑ์ดูแลฟันเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องสำอางมีความหลากหลายไม่เท่ากับผลิตภัณฑ์สำหรับผิวและเส้นผม แต่มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ในทุกเช้าที่ตื่นนอน หรือหลังรับประทานอาหารยาสีฟันล้วนมีความจำเป็น เพื่อให้ฟันสะอาดและช่องปากสดชื่นตลอดวัน และยังส่งเสริมบุคลิกภาพเวลาสนทนาหรือยิ้มแย้ม
ใน EP.14 นี้ จะพูดถึงโครงสร้างและหน้าที่ของฟัน การเกิดกลิ่นปากและสาเหตุของฟันผุ ผลิตภัณฑ์สำหรับฟันและช่องปาก รวมไปถึงส่วนผสมที่ใช้ในยาสีฟัน ติดตามกันได้เลยค่ะ
ก่อนอื่นมารู้จักช่องปากของมนุษย์กันก่อน ช่องปาก (oral cavity) คือ ส่วนที่อยู่ถัดจากริมฝีปากเข้าไปจนถึงลิ้นไก่ ช่องปากเป็นพื้นที่ส่วนแรกสุดที่รับอาหารเข้าสู่ร่างกาย และเป็นจุดเริ่มต้นของระบบย่อยอาหาร โดยมีฟันเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ตัด ขบ และบดเคี้ยวอาหารให้เป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นอาหารจะถูกส่งต่อเพื่อการย่อยที่สมบูรณ์ต่อไป
ในช่องปากมีส่วนประกอบหลักๆ ดังนี้
ในช่องปากมีระบบนิเวศของจุลินทรีย์ที่ซับซ้อน มีการผลิตน้ำลายอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในช่องปาก นอกจากนี้น้ำตาลและกรดอะมิโนจากอาหารที่ทานเข้าไปจะกลายเป็นสารอาหารที่ช่วยให้จุลินทรีย์เจริญเติบโต โดยปกติทั่วไปแล้วในช่องปากที่สุขภาพดีจะมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ประมาณ 20-50 ชนิด แต่ในกรณีที่มีอาการของโรคในช่องปากเกิดขึ้น แบคทีเรียจะเพิ่มจำนวนสูงถึง 200 ชนิดหรือมากกว่า
ฟัน (teeth) ธรรมชาติของมนุษย์มี 2 ชุด
1. ฟันน้ำนม (primary teeth) มีลักษณะเป็นฟันซี่เล็กๆ สีขาว มีทั้งหมด 20 ซี่ โดยฟันน้ำนมจะเริ่มสร้างตัวฟันตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา เมื่ออายุครรภ์ 6 สัปดาห์ จะเกิดหน่อฟันในบริเวณที่จะเจริญเป็นกระดูกขากรรไกร ฟันทุกซี่จะสร้างตัวฟันก่อน แล้วจึงสร้างรากฟัน ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นมาในช่องปากเมื่อเด็กอายุ 4-8 เดือน และทยอยขึ้นจนครบ 20 ซี่ เมื่อเด็กอายุ 2-3 ปี การดูแลฟันน้ำนมให้อยู่ในช่องปากได้จนถึงวาระที่ฟันน้ำนมโยกหลุดไปตามธรรมชาติ จะช่วยให้ฟันถาวรที่ขึ้นมาในช่องปากมีการเรียงตัวเป็นระเบียบ
2. ฟันถาวร (permanent teeth) หรือฟันแท้ มีขนาดใหญ่ และมีสีเหลืองกว่าฟันน้ำนม มีจำนวนทั้งหมด 32 ซี่ เริ่มปรากฎเมื่ออายุประมาณ 6 ปี ฟันถาวรกลุ่มแรกขึ้นถัดจากฟันกรามน้ำนมซี่ในสุดจากนั้นฟันน้ำนมจะทยอยหลุด และมีฟันถาวรขึ้นแทนที่ ฟันน้ำนมซี่ที่ขึ้นก่อนจะหลุดก่อน โดยหน่อฟันถาวรที่จะขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนมซี่นั้นจะดันส่วนที่เป็นรากฟันน้ำนมให้ค่อยๆ ละลายตัวจนฟันโยกหลุดไปได้เอง ฟันถาวรมีรูปร่างที่แตกต่างกัน 3 แบบ ได้แก่ ฟันตัด ฟันเขี้ยว และฟันกราม ทำหน้าที่สำคัญในการตัด บดเคี้ยวอาหาร และมีส่วนในการออกเสียงพูดได้ชัดเจน ฟันถาวรที่ดูแลรักษาดีจะอยู่และใช้งานได้ตลอดชีวิต
ทั้งฟันน้ำนมและฟันถาวรมีโครงสร้างภายนอก และภายในเหมือนกัน ดังนี้
โครงสร้างภายนอก แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
ตัวฟัน และรากฟัน ตัวฟันคือส่วนของฟันที่โผล่พ้นเหงือก ปรากฏให้เห็นในช่องปาก ส่วนรากฟันจะฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรและมีเหงือกปกคลุมอีกชั้น ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้จากในช่องปาก สำหรับแนวเส้นที่เชื่อมต่อจุดที่ตัวฟันและรากฟันมาบรรจบกัน เรียกว่า แนวคอฟัน ซึ่งในคนที่มีเหงือกปกติจะอยู่ประมาณแนวเส้นขอบเหงือก
โครงสร้างภายใน แบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ
ชั้นนอก ประกอบด้วย ชั้นเคลือบฟัน (enamel) มีสีขาวใส เป็นมันวาว เป็นส่วนที่แข็งที่สุด ประกอบด้วยผลึกของสารแคลเซียมไฮดรอกซี่อะพาไทต์ประมาณ 96% ทำหน้าที่ป้องกันฟันสึกจากแรงบดเคี้ยว และเคลือบรากฟัน (cementum) มีสีเหลืองอ่อน ทึบแสง มีผลึกของสารแคลเซียมไฮดรอกซี่อะพาไทต์ ประมาณ 45%-50% มีความแข็งน้อยกว่าเนื้อฟัน ปกคลุมห่อหุ้มรากฟัน ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้เนื้อฟันที่อยู่ข้างใต้
ชั้นกลาง คือ ชั้นเนื้อฟัน (dentine) มีสีเหลือง มีโครงสร้างเป็นท่อเล็กๆ เรียงเบียดอัดกันแน่น ประกอบด้วยผลึกของสารแคลเซียมไฮดรอกซี่อะพาไทต์ประมาณ 70% มีความแข็งน้อยกว่าเคลือบฟัน ไวต่อการสลายตัวและสึกหรอ
ชั้นใน คือ ชั้นเนื้อเยื่อในโพรงฟัน (dental pulp) เป็นเนื้อเยื่ออ่อน ประกอบด้วย เส้นเลือด ท่อน้ำเหลือง และเส้นประสาทเล็กๆ มีหน้าที่หล่อเลี้ยงให้ฟันมีชีวิต และรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดได้
Did You Know รู้หรือไม่?
เคลือบฟัน เนื้อฟัน และเคลือบรากฟัน มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นสารอนินทรีย์ เมื่อสัมผัสกับกรดที่มีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 จะเกิดกระบวนการสูญเสีย และคืนกลับของแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบ ปกติแล้วน้ำลายจะช่วยปรับค่า pH ให้กลับมาเป็นกลาง (pH 7) แต่หากทานอาหาร เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว หรือน้ำอัดลม บ่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของฟันได้
มีโรคในช่องปากและฟันมากมายที่อาจเป็นผลมาจากสุขอนามัยฟันที่ไม่ดี ปัญหาที่พบบ่อย ได้แก่ คราบจุลินทรีย์ คราบหินปูน โรคฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ อาการเสียวฟัน คราบฟัน และกลิ่นปาก ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลฟันและช่องปากเป็นประจำ
โรคฟันผุ (dental caries)
คือ สภาวะที่ฟันมีการสูญเสียเคลือบฟันและเนื้อฟัน ทำให้ผิวฟันเกิดเป็นหลุมหรือโพรง เรียกว่า รูผุของฟัน เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกเพศทุกวัย พบมากที่สุดในประชากรวัยเด็ก ฟันที่ผุแล้วไม่อาจกลับคืนมาเป็นฟันปกติ แต่สามารถยับยั้งไม่ให้การผุลุกลาม และบูรณะให้ใช้งานได้
สาเหตุ และกลไกการเกิดโรคฟันผุ บนผิวฟันมีแบคทีเรีย (เช่น Streptococcus mutans) ที่คอยย่อยสลายอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ทำให้เกิดกรด และกรดจะไปทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุที่อยู่ในฟัน เมื่อมีกรดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้ฟันเกิดการสูญเสียแร่ธาตุ (เช่น การสูญเสียแคลเซียมและฟอสเฟตจากเคลือบฟัน) ปรากฎเป็นรูผุเล็กๆ สีน้ำตาลบนผิวฟัน การเกิดกรดและการละลายเกลือแร่ออกจากฟันต้องเกิดภายใต้คราบจุลินทรีย์เสมอ ผิวฟันที่สะอาดไม่มีคราบจุลินทรีย์จะไม่เกิดฟันผุ
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคฟันผุ ได้แก่ ผิวฟันที่มีหลุมร่องลึกจะขจัดคราบจุลินทรีย์ได้ไม่ดี และมักมีเศษอาหารตกค้าง จึงเป็นบริเวณที่เกิดฟันผุได้ง่าย จุลินทรีย์และอาหารที่ตกค้างในช่องปาก สภาพแวดล้อมในช่องปาก น้ำลายมีคุณสมบัติในการเจือจาง และสะเทินความเป็นกรด (buffer) รวมทั้งยังเป็นแหล่งของแร่ธาตุที่จะคืนกลับสู่ผิวฟัน คนที่ปากแห้งน้ำลายน้อยจะเกิดฟันผุได้ง่าย แบบแผนพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง แต่ละช่วงวัยมีพฤติกรรมทางสังคมแตกต่างกัน จึงทำให้ปัญหาฟันผุในแต่ละช่วงวัยมีลักษณะเฉพาะ
โรคเหงือกอักเสบ (gingivitis)
เป็นโรคปริทันต์ระยะเริ่มต้น เป็นการอักเสบที่เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณขอบเหงือก ลักษณะอาการที่ตรวจพบคือ เหงือกบวมแดง มีเลือดออกเวลาแปรงฟัน แต่ไม่มีอาการเจ็บปวด มักพบคราบจุลินทรีย์หนาแน่นบนผิวฟันที่ติดกับเหงือก การอักเสบของเหงือกจะกลับคืนสู่สภาพปกติได้เมื่อผู้ป่วยสามารถแปรงฟันตนเองได้สะอาดและทั่วถึง โรคเหงือกอักเสบพบได้ตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากไม่มีอาการเจ็บปวด จึงถูกปล่อยปละละเลยทำให้โรคดำเนินต่อไปจนเข้าสู่การเป็นโรคปริทันต์อักเสบในวัยผู้ใหญ่ และวัยสูงอายุ
สาเหตุการเกิดโรคเหงือกอักเสบ โรคนี้เกิดจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์ เมื่อมีจุลินทรีย์ชนิดที่สร้างสารพิษเพิ่มจำนวนมากขึ้น สารพิษนี้จะซึมเข้าสู่เหงือกและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบของเหงือก สามารถกำจัดออกได้ด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ อย่างไรก็ตามหากไม่กำจัดออก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบได้ในที่สุด หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจลุกลามไปสู่โรคปริทันต์อักเสบ (periodontitis) เป็นภาวะที่การอักเสบลุกลามจากเหงือกไปทำลายกระดูกเบ้าฟัน เอ็นยึดปริทันต์ และเคลือบรากฟัน ทำให้การยึดติดของฟันกับกระดูกเบ้าฟันลดลง ฟันโยกจนไม่อาจใช้งานได้ เหงือกร่น และฟันหลุดร่วงในที่สุด
คราบจุลินทรีย์ (plaque) เป็นแผ่นฟิล์มเหนียว ไม่มีสี เกิดจากแบคทีเรียและน้ำตาลที่ก่อตัวบนฟันของเราตลอดเวลา เป็นสาเหตุหลักของฟันผุและโรคเหงือก สามารถแข็งตัวเป็นหินปูนได้หากไม่กำจัดออกทุกวัน
คราบหินปูน (tartar) คือ คราบจุลินทรีย์ที่สะสมมานานแล้วจับตัวแข็งเกาะอยู่บนฟัน นอกจากนี้ยังสามารถก่อตัวใต้เหงือกและทำให้เนื้อเยื่อเหงือกระคายเคืองได้ เป็นคราบสีเหลืองหรือน้ำตาลที่อยู่บนฟัน ถูกขจัดออกได้โดยทันตแพทย์เท่านั้น
คราบฟัน (dental stain) คือ การเปลี่ยนสีของฟัน อาจจะเป็นจุดเล็กๆ ที่มีการเปลี่ยนสี มีหลายสาเหตุ เช่น เคลือบฟันหรือเนื้อฟันมีสีเข้มขึ้นฟันจะมีโทนสีเหลือง โรคฟันผุ การบาดเจ็บในช่องปาก การติดเชื้อ ยา วัสดุทางทันตกรรม รวมไปถึงการได้รับฟลูออไรด์ที่มากเกินไปในขณะที่ฟันยังพัฒนาอยู่ สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ชา กาแฟ ไวน์ บุหรี่ คราบฟันส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพได้
อาการเสียวฟัน (tooth sensitivity) 57% ของประชากรผู้ใหญ่ต้องเจอภาวะนี้ จะมีอาการเจ็บปวดแปล๊บๆ เป็นระยะสั้นๆ เมื่ออยู่ภายใต้สิ่งกระตุ้นต่างๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่มเย็นและร้อน และการแปรงฟัน อาการเสียวฟันอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เคลือบฟันสึก อุดฟันสึก เหงือกร่น ฟันผุ ฟันแตก รากฟันเปิดออกเนื่องจากแปรงฟันรุนแรง โรคเหงือก หรือแม้กระทั่งกระบวนการทางทันตกรรมก็สามารถนำไปสู่อาการนี้ชั่วคราวได้
กลิ่นปาก (bad breath) เป็นอาการที่พบได้บ่อย ในบางครั้งสร้างความลำบากใจให้คนรอบข้างที่ได้กลิ่น เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่คือ สาเหตุในช่องปาก เช่น การรับประทานอาหารที่มีกลิ่นฉุน เช่น ทุเรียน หอม กระเทียม กุยช่าย เครื่องเทศ สะตอ หรือดื่มกาแฟ แอลกอฮอล์ แล้วมีกลิ่นตกค้างในช่องปาก ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากแบคทีเรียที่ย่อยสลายเศษอาหารที่ตกค้างหมักหมมในช่องปากทำให้เกิดสารระเหยของซัลเฟอร์ซึ่งมีกลิ่นเหม็น ดังนั้นช่องปากที่ไม่สะอาด มีเศษอาหารตกค้าง เป็นโรคฟันผุ มีคราบจุลินทรีย์ มีหินน้ำลาย เป็นโรคเหงือกอักเสบ ปริทันต์อักเสบ จึงเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหากลิ่นปากที่พบได้ทั่วไป สาเหตุนอกช่องปาก เช่น กลิ่นที่มาจากระบบย่อยอาหาร และระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีกลิ่นออกมากับลมหายใจและออกจากปาก เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคต่อมทอนซิล อักเสบ โรคปอดอักเสบเรื้อรัง วัณโรคปอด หรือมะเร็งที่ปอด ผู้ที่สูบบุหรี่นานๆ ก็ทำให้ลมหายใจและลมปากมีกลิ่นได้
ยาสีฟัน (toothpaste)
ยาสีฟันออกแบบมาเพื่อขจัดคราบจุลินทรีย์และคราบสกปรกออกจากฟัน และช่วยทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น จากอดีตจนถึงปัจจุบันยาสีฟันถือว่าเป็นเครื่องมือป้องกันฟันผุ การก่อตัวของหินปูน และโรคเหงือก ยาสีฟันมีการจัดทำหลายรูปแบบ เช่น ครีม เจล และผง โดยส่วนใหญ่แล้วในไทยจะนิยมแบบครีมและเจลมากกว่าแบบผง บรรจุในหลอดบีบเพื่อใช้งานได้สะดวก ยาสีฟันส่วนใหญ่ใช้สารชนิดเดียวกันเป็นส่วนประกอบพื้นฐาน ยกเว้นสารเสริมที่อาจจะแตกต่างกันเพื่อจุดประสงค์ที่ต่างกัน และเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะการใช้ที่เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น เช่น การใช้สารป้องกันฟันผุ การใช้สารควบคุมหินน้ำลาย การใช้สารควบคุมแผ่นคราบจุลินทรีย์ การใช้สารแก้ปัญหาเสียวฟัน เป็นต้น
ส่วนประกอบสำคัญของยาสีฟัน
สารขัดฟัน (abrasives)
สารขัดฟัน คือ สารที่ช่วยขัดฟันและทำความสะอาดฟัน เพื่อขจัดเศษอาหารและคราบที่ตกค้างบนผิวฟัน มีหลากหลายชนิดและขนาดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของประเภทฟัน แต่ละแบบให้ความใส-ขุ่นที่แตกต่างกัน จึงสร้างเนื้อยาสีฟันที่แตกต่างกันได้หลากหลาย ตัวอย่างสารขัดฟัน เช่น hydrated silica, calcium phosphate, calcium carbonate, disodium pyrophosphate
สารขัดฟันจะมีค่า Relative Dentin Abrasion (RDA) ซึ่งเป็นค่าความสามารถในการขัดถู
สารลดแรงตึงผิว (surfactant)
สารลดแรงตึงผิวช่วยในการทำความสะอาดและก่อฟองในยาสีฟัน ในยาสีฟันสูตรอ่อนโยนจะหลีกเลี่ยง SLS ในสูตร เพื่อลดอาการระคายเคืองบริเวณขอบปาก ตัวอย่างสารลดแรงตึงผิว เช่น sodium lauryl sulfate, sodium dodecylbenzene sulfonate, sodium lauroyl sarcosinate, sodium laureth phosphate, magnesium lauryl sulfate, sodium lauryl sulfoacetate, dioctyl sulfosuccinate
สารให้ความชุ่มชื้น (humectant)
สารให้ความชุ่มชื้นช่วยไม่ให้เนื้อยาสีฟันแห้ง ให้ยาสีฟันมีความเงา เนื้อเนียนสวย ไม่มีรสชาติ ไม่มีสี ตัวอย่างสารให้ความชุ่มชื้น เช่น glycerin, sorbitol, propylene glycol
สารให้ความหวาน (sweetening agent)
สารให้ความหวานช่วยให้ยาสีฟันมีรสชาติหวาน กลบความเผ็ดร้อนจากสมุนไพรและส่วนผสมอื่นๆ ได้ ไม่ทำให้ฟันผุ และให้อรรถรสในการแปรงฟัน ตัวอย่างสารให้ความหวาน เช่น sodium saccharin, aspartame, sorbitol
สารแต่งกลิ่น (flavoring agent)
สารแต่งกลิ่นเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางของยาสีฟัน โดยทั่วไปกลุ่มเด็กจะเป็นกลิ่นผลไม้ ส้ม สตรอว์เบอร์รี่ แอปเปิ้ล เป็นต้น สำหรับผู้ใหญ่ส่วนมากจะเป็นกลิ่นมิ้นต์ และในกลุ่มผู้สูงวัยจะเป็นกลิ่นแนวสมุนไพร กานพลู อบเชย ยูคาลิปตัส เป็นต้น
สารป้องกันฟันผุ (anticaries agent)
สารป้องกันฟันผุช่วยเสริมเคลือบฟันให้แข็งแรงและคืนแร่ธาตุให้ฟัน ในตลาดสารป้องกันฟันผุที่เห็นได้ทั่วไป คือ โซเดียมฟลูออไรด์ (sodium fluoride) ช่วยป้องกันฟันผุได้ 20-40% เหมาะสำหรับคนทุกวัยที่มีปัญหาหรือมีปัจจัยเสี่ยงโรคฟันผุ ในไทยมีการกำหนดปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันไม่เกิน 1500ppm หรือ 0.15% นอกจากนี้โซเดียมฟลูออไรด์ยังครองตลาดยาสีฟันถึง 95%
ฟลูออไรด์ เป็นเกลือของธาตุฟลูออรีน (fluorine)
เป็นสารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ช่วยชะลอการย่อยสลายของแร่ธาตุ และเสริมกระบวนการคืนกลับของแร่ธาตุบนผิวเคลือบฟัน ทำให้เคลือบฟันต้านทานกรดเพิ่มขึ้น ลดความเสี่ยงฟันผุ รบกวนการทำงานของจุลินทรีย์ ขัดขวางการย่อยอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล
ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำการใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์สำหรับแต่ละกลุ่มอายุดังนี้
ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ 1,100 - 1,500 ppm
- ผู้ใหญ่ทุกคน
- เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป
- เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีที่มีฟันผุง่าย หรือมีความเสี่ยงสูงในการเกิดฟันผุ
ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์น้อยกว่า 1,000 ppm
- เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 ปีที่ความเสี่ยงต่ำในการเกิดฟันผุ
- เด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี ควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนการเลือกใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์
คำเตือนสำหรับเด็ก
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ควรใช้ยาสีฟันปริมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียวและมีผู้ใหญ่ดูแลขณะแปรงฟัน ในกรณีที่เด็กได้รับสารฟลูออไรด์จากแหล่งอื่นด้วย ให้ปรึกษาแพทย์หรือทันตแพทย์
ตัวอย่างสารประกอบฟลูออไรด์
ได้แก่ ammonium monofluorophosphate, sodium monofluorophosphate, potassium monofluorophosphate, calcium monofluorophosphate, calcium fluoride, sodium fluoride, potassium fluoride, ammonium fluoride, aluminum fluoride, stannous fluoride, sodium hexafluorosilicate, potassium hexafluorosilicate, ammonium hexafluorosilicate, และ magnesium fluoride
Did You Know รู้หรือไม่?
ฟันตกกระ (dental fluorosis) คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นเนื่องจากการได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่มากเกินปกติเป็นระยะเวลานานช่วงระหว่างการสร้างฟัน (วัยเด็ก) ซึ่งฟลูออไรด์ที่ได้รับจะไปขัดขวางการสร้างชั้นเคลือบฟัน (enamel) ทำให้ผิวเคลือบฟันเกิดเป็นรูพรุน และแสดงออกมาเป็นบริเวณที่มีสีขาวขุ่น โดยผิวเคลือบฟันบริเวณดังกล่าวจะมีความแข็งแรงน้อยกว่าปกติ เสี่ยงต่อการสูญเสียชั้นเคลือบฟันได้ง่าย
สารออกฤทธิ์เฉพาะ
สารลดคราบจุลินทรีย์และป้องกันเหงือกอักเสบ (antiplaque and antigingivitis)
สารที่ช่วยลดคราบจุลินทรีย์และป้องกันเหงือกอักเสบส่วนใหญ่แล้วจะมีฤทธิ์ต่อต้านจุลินทรีย์ เพราะจุลินทรีย์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดคราบและมีผลต่อเนื่องจนทำให้เหงือกอักเสบ โดยสารในกลุ่มนี้จะช่วยยับยั้งเอนไซม์ของแบคทีเรียไม่ให้ย่อยน้ำตาล ตัวอย่างสารต้านจุลินทรีย์ เช่น stannous fluoride, triclosan, silver, zinc lactate, zinc citrate, cetylpyridinium chloride
สารลดอาการเสียวฟัน (antihypersensitivity agent)
อาการเสียวฟันมักพบในกรณีที่มีเหงือกร่น คอฟันสึก ซึ่งเกิดจากการแปรงฟันผิดวิธีคือวางขนแปรงตั้งฉากกับคอฟันและใช้แรงมากเกินไป หรือใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็ง นอกจากนี้อาจพบในกรณีเป็นโรคฟันผุ หรือมีฟันกร่อนจากการรับประทานอาหารรสเปรี้ยวจัดบ่อยๆ ยาสีฟันที่มีสารลดอาการเสียวฟันส่วนใหญ่ต้องใช้ต่อเนื่องกันสองสัปดาห์ขึ้นไป จึงลดอาการเสียวฟันได้ชัดเจน ตัวอย่างสารลดอาการเสียวฟัน เช่น strontium chloride, potassium nitrate, sodium citrate, arginine bicarbonate, potassium chloride, potassium citrate, calcium sodium phosphosilicate
สารควบคุมการเกิดหินปูน (anticalculus/tartar control ingredient)
สารควบคุมการเกิดหินปูนจะช่วยป้องกันการก่อตัวของหินปูนบนผิวฟัน โดยจะไปยับยั้ยการเจริญเติบโตของผลึก การใช้อย่างต่อเนื่องจะสามารถควบคุมการเกิดหินปูนเหนือเหงือกได้ แต่ข้อควรระวัง คือ อาจมีอาการเสียวฟัน หรือ เกิดการแพ้สารที่ผสมในยาสีฟันได้ ตัวอย่างสารควบคุมหินปูน เช่น pyrophosphates, triclosan, zinc citrate, sodium hexametaphosphate, zinc chloride, zinc lactate
สารให้ฟันขาว (whitening Ingredient) มี 2 ประเภท
1. ไม่ฟอกสีฟัน สารที่ไม่ฟอกสีฟันมักจะเป็นผงขัดหยาบ หรือสารบางชนิดที่ทำให้คราบที่ติดแน่นหลุดง่ายขึ้น ใช้กำจัดคราบสีบนตัวฟัน เช่น คราบน้ำชา กาแฟ บุหรี่ ทำให้ฟันขาวขึ้นเท่ากับสีฟันเดิมตามธรรมชาติ ยาสีฟันที่ผสมสารกลุ่มนี้ไม่แนะนำให้ใช้เป็นประจำ เนื่องจากผงขัดที่หยาบอาจขัดถูผิวเคลือบฟันให้สึกกร่อน
2. ฟอกสีฟัน ใช้สารฟอกสีฟันช่วยให้ฟันขาวขึ้น ขจัดคราบฝังลึกได้ดี ยาสีฟันที่ผสมสารกลุ่มนี้อนุญาตให้ขายได้เฉพาะในร้านขายยา และควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนใช้ เพราะอาจมีผลแทรกซ้อนทำให้เสียวฟันได้ ตัวอย่างสารฟอกสีฟัน ได้แก่ hydrogen peroxide, carbamide peroxide
สารลดกลิ่นปาก (antimalodor Ingredient)
กลิ่นปากเป็นปัญหาในการเข้าสังคม วิธีแก้ปัญหาปากมีกลิ่นมีได้หลายวิธี ในยาสีฟันมีสารที่ช่วยทำให้ลมหายใจหอมสดชื่นได้ เช่น มิ้นท์ ยูคาลิปตัส การบูร และเมนทอล เป็นต้น นอกจากนี้สารช่วยต้านแบคทีเรียยังช่วยลดกลิ่นปากลงได้เช่นกัน เพราะแบคทีเรียเป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดกลิ่นปากนั่นเอง ตัวอย่างสารลดกลิ่นปาก เช่น zinc lactate, zinc citrate, tannin, persimmon fruit juice ferment extract
น้ำยาบ้วนปาก (mouthwash)
น้ำยาบ้วนปากออกแบบมาเพื่อทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น เพิ่มสุขอนามัยในช่องปาก ใช้สำหรับหลังแปรงฟันเพื่อให้ผลการทำความสะอาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ควรใช้แทนยาสีฟันเนื่องจากไม่มีสารในการช่วยขัดฟัน รวมทั้งห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ใช้น้ำยาบ้วนปาก
น้ำยาบ้วนปาก แบ่งเป็น 2 ประเภทตามจุดประสงค์ของการใช้ คือ
1. ใช้บ้วนปากเพื่อช่วยให้เศษอาหารหลุดง่ายขึ้น ลดเชื้อจุลินทรีย์ในปาก และช่วยลดกลิ่นปาก ทำให้รู้สึกสดชื่น
2. ใช้เพื่อป้องกันหรือบำบัดรักษา ได้แก่ น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ น้ำยาบ้วนปากควบคุมคราบจุลินทรีย์ และป้องกันเหงือกอักเสบ ซึ่งมีส่วนผสมของสารที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ จึงควรใช้ภายใต้คำแนะนำของทันตแพทย์
ผลิตภัณฑ์อื่นๆ
ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ช่วยให้ฟันสะอาด ช่องปากสุขภาพดี เช่นผงขัดฟันและไหมขัดฟัน เป็นทางเลือกที่ใช้ทดแทนยาสีฟันได้ สามารถขจัดเศษสิ่งสกปรกและคราบแบคทีเรียที่ติดอยู่ระหว่างซอกฟักและเหงือกได้ ออกแบบมาเพื่อทำความสะอาดพื้นที่ในช่องปากที่ยากต่อการเข้าถึงด้วยแปรงสีฟัน
ช่องปากและฟันเป็นบริเวณที่เล็กกว่าผิวหนังแต่กลับมีความสำคัญอย่างมาก ต้องได้รับการดูแลสุขอนามัยเป็นอย่างดี ต้องสะอาดและลมหายใจหอมสดชื่น ที่ TNP เรามีผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลช่องปากและฟัน ทั้งยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก ให้คุณเลือกสูตรที่ใช่ สนใจสร้างแบรนด์ให้เราเป็นตัวเลือกแรกของคุณได้เลยค่ะ
ข้อมูลจาก
สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข