R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.09 ตอน ผลิตภัณฑ์ลดเลือนริ้วรอย (Anti-Aging Products)
ผิวเสื่อมสภาพหรือผิวชราเป็นกระบวนการทางชีววิทยาที่ซับซ้อนซึ่งได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกและภายในร่วมกัน ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและสรีรวิทยาในชั้นผิวหนัง ใน EP นี้จะมาให้ข้อมูลกระบวนการชราของผิว การป้องกันผิวเสื่อมสภาพ ตลอดจนส่วนผสมที่ใช้ในสูตรสกินแคร์
ผิวเสื่อมสภาพหรือผิวชรานั้นจะมีความยืดหยุ่นน้อยลง หยาบกร้าน สีผิวไม่สม่ำเสมอ และมีริ้วรอย โดยเกิดจาก 2 ปัจจัย ได้แก่
1. ผิวเสื่อมสภาพจากปัจจัยภายใน (Intrinsic Skin Aging)
2 ผิวเสื่อมสภาพจากปัจจัยภายนอก (Extrinsic Skin Aging)
1.ผิวเสื่อมสภาพจากปัจจัยภายใน (Intrinsic Skin Aging)
- ผิวชราที่มาจากปัจจัยภายในจะถูกกำหนดโดยพันธุกรรมและกาลเวลา ซึ่งผิวแก่ชราที่แท้จริงจะเกิดจากการเสื่อมสภาพของผิวตามธรรมชาติ เกิดขึ้นทั้งร่างกายไม่สามารถแก้ไขได้ ในบางคนที่อายุเท่ากันแต่ดูอ่อนกว่าวัยนั้นเกิดจากพันธุกรรมที่แตกต่างกัน และในผิวที่แก่ก่อนวัยจะมีชั้นหนังแท้ที่บางลง อิลาสตินเสื่อมสภาพ และผิวสูญเสียความชุ่มชื้น
- ผิวบางเกี่ยวข้องกับปริมาณคอลลาเจน กระบวนการสังเคราะห์คอลลาเจนจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งทำให้ปริมาณคอลลาเจนในผิวลดลง เนื่องจากคอลลาเจนมีหน้าที่เสริมสร้างความแข็งแรงของผิวและมีบทบาทสำคัญในการสมานแผล ปริมาณที่ลดลงทำให้ความแข็งแรงของผิวลดลง ชั้นหนังแท้บางลง และอัตราการสมานแผลที่ต่ำลง นอกจากคอลลาเจนแล้ว การสังเคราะห์อิลาสตินยังลดลงอีกด้วย ซึ่งส่งผลให้ผิวหนังสูญเสียความยืดหยุ่น
- การแสดงอารมณ์ทางใบหน้าทำให้กล้ามเนื้อชั้นบนบนใบหน้าหดตัวทำให้เกิดริ้วรอย ได้แก่ รอยย่นบนหน้าผาก ตีนการอบดวงตา รอยเหี่ยวย่นบริเวณริมฝีปาก แก้มตอบและมีร่องแก้ม
- นอกจากนี้ การผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันยังลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งส่งผลต่อการรักษาบาดแผล สูญเสียความแข็งแรง ความหนา และผิวอ่อนแอมากขึ้น
- เมื่ออายุมากขึ้นเกราะป้องกันผิวจะได้รับผลกระทบโดยตรง ส่งผลให้ปริมาณลิพิดในผิวชั้นบนลดลง การทำงานของเกราะป้องกันผิวเสียหาย ผิวสูญเสียน้ำมากขึ้น และผิวแห้งขึ้น
- รอยหยักระหว่างผิวชั้นบน (Epidermis) และชั้นหนังแท้ (Dermis) ค่อยๆ แบนลงเนื่องจากการผลิตเคราติโนไซต์ลดลง
การเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมที่เกิดขึ้น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีผิวและขนาดของต่อมไขมัน
- เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชรา ความหนาแน่นของเซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocytes) จะลดลง การลดลงนี้มีส่วนทำให้ผิวดูซีด ซึ่งสัมพันธ์กับการลดลงของหลอดเลือดในผิวหนังด้วย ในผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองจากแสงแดดได้เพราะเม็ดสี (Melanin) ลดลง ผิวจะไวต่อแสงแดดมากกว่าและเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง
- จำนวนต่อมไขมันคนเรามีจำนวนเท่าเดิมตลอดชีวิต ขนาดของมันจะมีแนวโน้มกว้างขึ้นตามอายุที่มากขึ้น เป็นผลให้รูขุมขนของผิวกว้างขึ้น
2.ผิวเสื่อมสภาพจากปัจจัยภายนอก (Extrinsic Skin Aging)
ความชราจากปัจจัยภายนอกเป็นการเร่งความชราจากปัจจัยภายใน เกิดจากการสัมผัสกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น แสงแดด ลม การสูบบุหรี่ และมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะรังสียูวีจากแสงแดดและการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผิวแก่ก่อนวัย และความแก่ที่มีสาเหตุมาจากแสงแดดจะเรียกกระบวนการนี้ว่า "Photoaging"
- ผิวที่แก่ชราจากปัจจัยภายนอกสามารถมองเห็นได้ชัดเจนกว่าปัจจัยภายใน ดูจากผิวมีริ้วรอย มีเม็ดสีมากเกินไป ผิวดูเหลืองซีดไม่สดใส ผิวเปราะบางมากขึ้น ผิวหยาบกร้าน และมองเห็นเส้นเลือดที่อยู่ใต้ผิวหนังได้ชัด
- ประเภทสีผิวมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเกิด Photoaging ตัวอย่างเช่น คนผิวขาวจะมีฝ้ากระตั้งแต่เด็ก และเมื่อได้รับแสงแดดสะสมเป็นเวลานาน ผิวจะบางลงและเกิดริ้วรอยเล็กๆ ขึ้น
- เซลล์ Langerhans มีจำนวนลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้ลดลงและมีประสิทธิภาพไม่เท่าเดิม ทำให้ผิวถูกทำลายและเกิดการติดเชื้อ
- การสัมผัสรังสียูวีและการสูบบุหรี่ทำให้สีผิวเปลี่ยนจากสีชมพูเป็นสีเหลืองซีดแทน ผิวบริเวณที่โดนแดดจะมีการเพิ่มจำนวนของเซลล์สร้างเม็ดสี และปรากฎเป็นจุดด่างดำบนผิวหรือจุดแก่
- ในชั้นหนังแท้เกิดการเสื่อมสลายของคอลลาเจนและอิลาสติน และมีการสะสมของอิลาสตินที่ผิดปกติเรียกว่า Elastosis นอกจากนี้ชั้นไขมันใต้ผิวหนังแท้มีความหนาลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของผิวลดลง ตลอดจนเกิดริ้วรอยและผิวหย่อนคล้อย ซึ่งแสงแดดจะเป็นตัวการในการเร่งอัตราการสลายตัวของคอลลาเจน
DID YOU KNOW รู้หรือไม่?
เป็นที่ทราบกันดีว่าการสูบบุหรี่นำไปสู่การแก่ก่อนวัย กล่าวคือ ผู้สูบบุหรี่จะดูแก่กว่าวัยและการสูบบุหรี่ยังเป็นตัวการใหญ่ที่ทำให้เกิดริ้วรอยบนใบหน้ามากกว่าการตากแดด
แสงยูวีมี 3 รูปแบบ แบ่งตามความยาวคลื่นของแสง ได้แก่ UVA, UVB, และ UVC
1. UVA ความยาวคลื่น 300-400 นาโนเมตร แบ่งเป็น UVA-I และ UVA-II แทรกซึมเข้าสู่ผิวได้ลึกกว่า UVB ทำลายสุขภาพผิวในระยะยาว
2. UVB ความยาวคลื่น 290-320 นาโนเมตร แทรกซึมเข้าไปได้เพียงผิวชั้นบนเท่านั้น ทำให้เกิดรอยแดง ผิวไหม้ ดีเอ็นเอเสียหาย จุดด่างดำ และมะเร็งผิวหนัง
3. UVC ความยาวคลื่น 200-290 นาโนเมตร ส่วนใหญ่ถูกปิดกั้นโดยชั้นโอโซน มีผลกระทบต่อผิวเพียงเล็กน้อย
เกราะป้องกันผิวที่สุขภาพดีต้องป้องกันการขาดน้ำและช่วยการซึมผ่านของสารต่างๆ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูผิว ความยืดหยุ่น และความเรียบเนียน ดังนั้นการบำรุงผิวเป็นประจำทุกวันจึงเป็นส่วนสำคัญในการต่อต้านริ้วรอย การดูแลจะช่วยชะลอการเสื่อมสภาพขององค์ประกอบผิว เช่น คอลลาเจนและอิลาสติน ซึ่งจะค่อยๆ สลายไปตามธรรมชาติเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นส่วนผสมอย่างสารสกัดจากพืช สารต้านอนุมูลอิสระ โปรตีนและเปปไทด์ เรตินอยด์ กรดไฮดรอกซี และสารกันแดด ได้รับการยืนยันว่าช่วยป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชั่นและการก่อตัวของอนุมูลอิสระ ฟื้นฟูผิวกำพร้า และส่งเสริมการสังเคราะห์คอลลาเจนและอีลาสตินตามธรรมชาติ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นสารต่อต้านความแก่ที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก
1. สารสกัดจากพืช (Botanical Extracts)
สารสกัดจากพืชเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน และมักถูกใช้เป็นส่วนผสมที่ออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์ต่อต้านริ้วรอย มีประสิทธิภาพหลากหลาย เช่น
- ต้านอนุมูลอิสระ เช่น กาแฟและทับทิม
- ป้องกันแสงแดด เช่น ชาดำและมะกอก
- ผิวเรียบเนียน ปลอบประโลมผิว และต้านการอักเสบ เช่น ดอกคาโมมายล์และเห็ดต่างๆ
- ผิวกระจ่างใส เช่น บลูเบอร์รี่และโสม
- ผิวกระชับ เช่น เปปเปอร์มินต์และวิชฮาเซล
- ผิวนุ่ม เช่น โจโจ้บาและมะพร้าว
2. สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants)
ความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันนำไปสู่การแก่ชราและการเกิดริ้วรอยแห่งวัย โดยปกติผิวของมนุษย์มีระบบต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถต่อต้านผลกระทบด้านลบของความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีเกิดความเครียดสะสมหรือรุนแรงจนระบบต้านอนุมูลอิสระเอาไม่อยู่อาจเกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อได้ ตามทฤษฎีแล้วความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และในขณะเดียวกันระบบต้านอนุมูลอิสระภายนอกจะมีประสิทธิภาพลดลง การพัฒนาของอนุมูลอิสระจะไปส่งเสริมการเสื่อมสภาพของคอลลาเจน อิลาสติน กรดไฮยาลูโรนิก และทำให้เกิดสัญญาณแห่งวัย ดังนั้นการให้สารต้านอนุมูลอิสระแก่ผิวจึงมีประโยชน์ในการช่วยชะลอความแก่ ส่วนผสมที่ใช้กันทั่วไป ได้แก่ วิตามิน เช่น วิตามินซี วิตามินบี 3 และวิตามินอี
- สารสกัดจากพืช เช่น ชาเขียวและสารสกัดจากเมล็ดองุ่น
- ส่วนผสมอื่นๆ เช่น เรสเวอราทรอล กรดไลโปอิก กรดเฟอรูลิก และโคเอ็นไซม์คิวเท็นหรือยูบิควิโนน
- สารต้านอนุมูลอิสระไม่เพียงแต่สามารถทำหน้าที่ป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชันเท่านั้น แต่ยังสามารถกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน คงระดับกรดไฮยาลูโรนิกในผิวหนัง และยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบอีกด้วย
3. เปปไทด์และโปรตีน (Peptides and Proteins)
เปปไทด์และโปรตีนยังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันในฐานะส่วนผสมต่อต้านริ้วรอยที่มีประสิทธิภาพ มีฤทธิ์หลายอย่าง เช่น ต้านการอักเสบ ลดเลือนริ้วรอยโดยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้ผิวหนาขึ้นและกระชับขึ้น ให้ผิวเรียบเนียน ผิวมีความชุ่มชื้น และช่วยปกป้องผิว ตัวอย่างของเปปไทด์และโปรตีนที่ใช้โดยทั่วไป ได้แก่
- จากธรรมชาติ เช่น คอลลาเจน อิลาสติน ข้าวสาลีที่ถูกไฮโดรไลซ์ และโปรตีนจากถั่วเหลือง
- จากการสังเคราะห์ เช่น Matrikines, Neuropeptides, สารที่ลอกเลียนแบบการทำงานของ Botulinum Toxin และเอนไซม์
4. เรตินอยด์ (Retinoids)
เรตินอยด์เป็นกลุ่มของสารที่ประกอบด้วยวิตามินเอ (เรตินอล) และอนุพันธ์ของวิตามินเอ โดยมี Retinoic Acid, Adapalene, Tazarotene และ Bexarotene ที่เป็นยาและห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ส่วนกลุ่มที่ใช้ในเครื่องสำอางได้นั้น เช่น Retinal, Retinol, Retinyl Esters, Retinyl Retinoate และ Hydroxypinacolone Retinoate โดยทั่วไปแล้วเรตินอยด์เป็นโมเลกุลที่ชอบน้ำมัน สามารถซึมผ่านผิวชั้นกำพร้าเข้าสู่ชั้นหนังแท้ได้ ประสิทธิภาพของเรตินอยด์ เช่น ปรับปรุงความหยาบกร้านของผิว ปรับปรุงจุดแก่ และลดเลือนริ้วรอยโดยลดปริมาณการสลายตัวของคอลลาเจนและกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนใหม่ เรตินอยด์นั้นทำงานในระดับโมเลกุลผ่านตัวรับในเซลล์ผิว
กรดเรติโนอิก (Retinoic Acid)
กรดเรติโนอิกหรือที่รู้จักกันในชื่อเตรทติโนอิน (Tretinoin) เป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์ของวิตามินเอ ซึ่งเห็นผลในเรื่องการชะลอวัย ต่อต้านความแก่ของผิว ปรับสภาพผิวหน้าที่ถูกทำร้ายจากรังสียูวี มีข้อเสียคือมีความระคายเคืองต่อผิวมากกว่าอนุพันธ์วิตามินเอตัวอื่นๆ ในทางเครื่องสำอางไม่สามารถใช้กรดเรติโนอิกได้ จึงใช้อนุพันธ์วิตามินเอตัวอื่นแทน ซึ่งมีประสิทธิภาพรองลงมาและมีความระคายเคืองต่อผิวน้อยลง โดยผิวจะเปลี่ยนอนุพันธ์วิตามินเอให้อยู่ในรูปกรดเรติโนอิกถึงจะสามารถทำงานได้ และยิ่งมีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงมาก ประสิทธิภาพและความเสถียรก็ยิ่งลดลง
เรตินาล (Retinal)
เรตินาลหรือเรตินาลดีไฮด์เป็นอนุพันธ์ของกรดเรติโนอิกที่อ่อนโยนกว่า ซึ่งได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าให้ผลในการต่อต้านริ้วรอยและมีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพเกือบเทียบเท่ากรดเรติโนอิกในเรื่องการลดรอยเหี่ยวย่นและความหยาบกร้านของผิว โดยมีการระคายเคืองที่ต่ำกว่า ใช้ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงแค่ 1 ขั้นก็สามารถออกฤทธิ์ได้เลย ยังมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผิวมันหรือผิวที่เป็นสิวง่าย ปรับสภาพผิวให้เรียบเนียนและกระจ่างใส เพิ่มความยืดหยุ่นของผิว ปกป้องผิวจากการทำลายของอนุมูลอิสระ เพิ่มความชุ่มชื้นของผิว
เรตินอล (Retinol)
เรตินอลเป็นสารออกฤทธิ์ต่อต้านริ้วรอยเป็นที่รู้จักและมีงานวิจัยรองรับเป็นอย่างดี ช่วยลดริ้วรอยที่เกิดจากอายุที่มากขึ้นและริ้วรอยที่มาจากความเครียดภายนอก เพิ่มชั้นผิวให้หนาขึ้น ชะลอการสลายตัวของคอลลาเจนและสร้างขึ้นมาใหม่ เรตินอลเป็นที่นิยมมากที่สุดในกลุ่มเรตินอยด์ ให้ผลใกล้เคียงกับกรดเรติโนอิก แต่ระคายเคืองน้อยกว่า ในผู้ใช้บางรายอาจจมีผื่นแดงเล็กน้อยเกิดขึ้นระหว่างการใช้ สามารถชะลอการเสื่อมสภาพของเรตินอลได้ด้วยการห่อหุ้ม (Encapsulation) เป็นการเพิ่มความเสถียรให้เรตินอลและนำส่งเข้าสู่ผิวได้อย่างตรงจุด
DID YOU KNOW รู้หรือไม่?
อนุพันธ์วิตามินเอทุกรูปแบบมีความไวต่อแสง (Photoactive) ก่อให้เกิดความเป็นพิษเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสง (Phototoxicity) ซึ่งอนุพันธ์วิตามินเอสามารถดูดซับพลังงานจากแสง และพลังงานที่ดูดซับเข้ามาจะก่อให้เกิดความเป็นพิษ เช่น เกิดการสร้างอนุมูลอิสระขึ้น ผิวเกิดการระคายเคือง ดังนั้นการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของอนุพันธ์วิตามินเอต้องใช้ในช่วงที่ไม่มีแสง หรือช่วงกลางคืนเท่านั้น
5. กรดไฮดรอกซี (Hydroxy Acids)
HA หรือ Hydroxy Acid เป็นสารผลัดเซลล์ผิวแบบเคมี มีความสามารถในการสลายเซลล์ผิวที่ตายแล้วบนชั้นผิว เผยผิวใหม่ที่เรียบเนียน ลดเลือนริ้วรอย ส่งเสริมการผลิตคอลลาเจน เปลี่ยนผิวที่หมองคล้ำให้กระจ่างใส และกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ไปพร้อมๆ กัน มี 4 กลุ่ม ได้แก่
AHA (Alpha Hydroxy Acid)
ได้แก่ กรดไกลโคลิก กรดแลคติก กรดทาร์ทาริก กรดซิตริก กรดมาลิก และกรดแมนเดลิก
มีคุณสมบัติในการละลายน้ำ
ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ได้รับความเสียหายจากแสงแดด ช่วยกักเก็บน้ำไว้ในผิว ผิวกระจ่างใส สีผิวสม่ำเสมอ และลดเลือนริ้วรอย
เหมาะกับผิวแห้ง ผิวธรรมดา ผิวสูงวัย และผิวหยาบกร้าน เนื่องจากผิวมีการขาดน้ำและ AHA มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี จึงช่วยฟื้นฟูผิวให้กลับมาชุ่มชื้นได้
ระคายเคืองต่อผิวมากที่สุดใน HA แนะนำเริ่มใช้ที่ปริมาณน้อยก่อน
ใช้กันแดดด้วยทุกครั้ง เพราะการขัดผิวด้วยกรด AHA จะทำให้ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น
BHA (Beta Hydroxy Acid)
ได้แก่ กรดซาลิไซลิก
มีคุณสมบัติละลายน้ำมัน
ซึมผ่านชั้นผิวได้ลึกกว่า AHA ช่วยลดการอุดตันของรูขุมขนและลดการผลิตน้ำมัน ช่วยให้รูขุมขนดูเล็กลง ช่วยลดการอักเสบของสิว ลดสิวหัวดำและสิวหัวขาว
เหมาะกับผิวมันและผิวมีสิว
ระคายเคืองต่อผิวน้อยกว่า AHA แต่ยังมากกว่า LHA และ PHA
LHA (Lipo Hydroxy Acid)
อนุพันธ์ของกรดซาลิไซลิก ได้แก่ Capryloyl Salicylic Acid
มีคุณสมบัติละลายน้ำมัน และละลายได้ดีกว่า BHA
ซึมเข้าสู่ผิวได้ช้าจึงมีความอ่อนโยนกว่า BHA ช่วยยับยั้งการเกิดสิวได้
เหมาะกับผิวแพ้ง่ายและผิวมีสิว
ระคายเคืองน้อยมาก
PHA (Poly Hydroxy Acid)
ได้แก่ กลูโคโนแลคโตน กรดแลคโตไบโอนิก และกรดมอลโทไบโอนิก
มีคุณสมบัติละลายน้ำ
มีโครงสร้างโมเลกุลที่ใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับ AHA ส่งผลให้ซึมผ่านผิวได้น้อยลงและทำงานช้าลง
ช่วยคงความชุ่มชื้นผิว ป้องกันริ้วรอย ลดเลือนริ้วรอย ฟื้นฟูผิวที่ได้รับความเสียหายจากแสงแดด ไม่ไวต่อแสงเหมือน AHA
pH ใกล้เคียงกับผิว มีความอ่อนโยนที่สุดใน HA
เหมาะกับผิวแพ้ง่าย
ระคายเคืองน้อยมาก
6.สารกันแดด (Sunscreens)
แม้ว่าแสงแดดจะมีความสำคัญสำหรับเรา แต่การได้รับแสงแดดที่รุนแรงและสะสมทุกวันสามารถทำลายผิวและทำให้ผิวแก่ก่อนวัยได้ ในแสงแดดมีรังสีหลายชนิดแตกต่างกันไปตามความยาวคลื่น รังสีที่ทำอันตรายแก่ผิว เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet Radiation) หรือรังสียูวี (UV) แบ่งแยกย่อยเป็น UVA-I, UVA-II, UVB, UVC โดยรังสี UVA มีสัดส่วนมากถึง 95% รังสี UVB มี 5% ส่วนรังสี UVC ถูกชั้นโอโซนดูดซับไว้ รังสี UV ส่วนน้อยจะสะท้อนออกจากผิวและส่วนใหญ่จะถูกผิวดูดซับไว้ รังสี UVB จะทะลุได้ถึงผิวชั้นนอกเท่านั้น ในขณะที่รังสี UVA ทะลุได้ถึงผิวหนังแท้ ครีมกันแดดช่วยปกป้องผิวจากอันตรายของรังสียูวี สารออกฤทธิ์ที่มีอยู่ในครีมกันแดดช่วยสะท้อนและกระจายรังสียูวีที่เป็นอันตรายหรือดูดซับไว้ การใช้กันแดดที่มีค่า SPF สูง ช่วยป้องกันรังสียูวีได้นานขึ้น เลือกกันแดดที่ครอบคลุมทั้งรังสี UVA และ UVB ค่า SPF 15 ถึง 50 ค่า PA 2+ (++) ถึง 4+ (++++) และทากันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน 15-30 นาที ซึ่งจะช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวี ปกป้องผิวแก่ก่อนวัย ลดความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง สีผิวสม่ำเสมอ ไม่หมองคล้ำ
ประเภทของสารกันแดด
1. สารกันแดดฟิสิคอล (Physical Sunscreen): Titanium Dioxide และ Zinc Oxide
2. สารกันแดดเคมีคอล (Chemical Sunscreen): Octinoxate, Octocrylene, Octisalate และEthylhexyl Triazone
3. สารกันแดดไฮบริด (Hybrid Sunscreen): Bisoctrizole และ Tris-Biphenyl Triazine
เทคนิคที่ใช้ในการทำสูตรสำหรับผลิตภัณฑ์ต่อต้านริ้วรอย
- เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด สูตรต่อต้านริ้วรอยส่วนใหญ่จะเน้นการซึมผ่านเข้าสู่ผิวจากชั้นหนังกำพร้าไปจนถึงชั้นหนังแท้
- ซึ่งการซึมผ่านของสารออกฤทธิ์เข้าสู่ผิวไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนคิด หากในครีมมีสารออกฤทธิ์ละลายในน้ำมันเมื่อทาลงบนผิวจะซึมเข้าสู่ผิวได้ง่ายเมื่อน้ำระเหยออกไป ในทางกลับกันหากสารออกฤทธิ์ละลายในน้ำ เมื่อมีการระเหยออกไปของน้ำจะส่งผลให้สารออกฤทธิ์ซึมเข้าสู่ผิวได้ยากขึ้น
- ขนาดโมเลกุลและความสามารถในการละลายของสารออกฤทธิ์มีผลในการซมผ่านเข้าสู่ผิว โดยทั่วไปแล้ว โมเลกุลที่มีขนาดมากกว่า 500 Da จะซึมผ่านผิวชั้น Stratum Corneum ได้ยาก สำหรับความสามารถในการละลาย ส่วนที่ไม่ชอบน้ำ (เช่น Lipophilic) มีโอกาสซึมผ่านลิพิดในชั้น Stratum Corneum ได้ดีกว่าส่วนที่ละลายน้ำ
- ค่า pH ของสูตรก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการซึมผ่านเข้าสู่ผิว โดยทั่วไปแล้วค่า pH ของสูตรจะปรับให้ใกล้เคียงกับค่า pH ของผิวมากที่สุด โดยค่าที่เหมาะสมประมาณ 4.7 - 5.75
- เทคนิคที่ช่วยเพิ่มการซึมผ่านของสาร เช่น เพิ่มตัวช่วยในการทำละลาย ลดจุดหลอมเหลวของส่วนผสมหลัก ใช้สารที่ช่วยเพิ่มการซึมผ่าน เป็นต้น
- อิมัลชันโดยทั่วไปจะเป็นแมคโครอิมัลชัน (Macroemulsions) มีลักษณะขาวขุ่น มีขนาดตั้งแต่ 0.25 10 ไมครอน นอกจากนี้ยังมีระบบนำส่งสารแบบอื่นๆ เช่น ไลโปโซม (liposomes), นีโอโซม (Niosomes), ระบบอนุภาคไขมันแข็งขนาดนาโนพาร์ติเคิล (Solid Lipid Nanoparticles, SLN) และระบบตัวพาไขมันขนาดนาโน (Nanostructured Lipid Carriers, NLC) ข้อได้เปรียบของระบบเหล่านี้คือสามารถเพิ่มความคงตัวของส่วนผสมที่ไม่เสถียร ลดโอกาสการระคายเคืองของส่วนผสมที่ระคายเคือง และยังเพิ่มสุนทรียศาสตร์ของสูตร
- เมื่อในสูตรมีส่วนผสมของเรตินอยด์ ควรคำนึงถึงความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความคงทนด้วย เนื่องจากเรตินอยด์ไม่ค่อยมีความเสถียรโดยเฉพาะสภาวะที่มีออกซิเจนและแสงและมีโอกาสเกิดการระคายเคืองได้ จึงต้องมีการปรับสูตรให้เหมาะสมสามารถใช้ระบบการนำส่งเพิ่มความสเถียรได้ และบรรจุภัณฑ์ควรทึบแสง
- วิตามินซีมีความไวต่อออกซิเจนและแสงสูงมาก เสื่อมสภาพได้ง่าย และซึมผ่านผิวได้ยากจึงควรใช้ระบบนำส่งสารที่เหมาะสม ปรับค่า pH ให้อยู่ที่ 3.5 จะช่วยเพิ่มการซึมผ่านได้ดีกว่า และเพิ่มสารต้านออกซิเดชันเพื่อเพิ่มความเสถียรของวิตามินซี
- AHA จะทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพเมื่อมีค่า pH ที่ต่ำแต่ก็จะเกิดการระคายเคืองที่มากขึ้นเช่นกัน และด้วยค่า pH ที่ต่ำนั้นยังส่งผลไปถึงสารเพิ่มความข้นหนืดในสูตรด้วย จึงต้องมีการเลือกสารที่ทนต่อค่า pH ต่ำๆ ได้
- การจะนำส่งเปปไทด์และโปรตีนเข้าสู่ผิวนั้นท้าทายมาก การเพิ่ม Lipophilic Chain จะช่วยเพิ่มการซึมผ่านได้สูงขึ้น รวมไปถึงการใช้ Liposome ช่วยเพิ่มความเสถียร
จบไปแล้วสำหรับ EP.09 นะคะ หวังว่าจะได้ความรู้ในการทำสูตรต่อต้านริ้วรอยไม่มากก็น้อยนะคะ นอกจากนี้ TNP ยังมีบริการพัฒนาสูตรตามความต้องการของลูกค้าโดยนักวิจัยที่มีประสบการณ์
สนใจสร้างแบรนด์ติดต่อได้เลยค่ะ ปรึกษาฟรี!