แชร์

R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.10 ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิว (Skin Moisturizing Products)

อัพเดทล่าสุด: 24 มิ.ย. 2024
3042 ผู้เข้าชม

     ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นหรือมอยส์เจอร์ไรเซอร์เป็นสกินแคร์ดูแลผิวที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดย 75% ของประชากรวัยหนุ่มสาวมีการใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ทุกวัน ซึ่งใน EP. นี้ TNP จะพาคุณมารู้จักกับมอยส์เจอร์ไรเซอร์ว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับผิว

     "Moisture" หมายถึงความชุ่มชื้นที่มาจากน้ำหรือของเหลวอื่นๆ ส่วน Moisturizer หมายถึงส่วนผสมที่เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว
     มอยส์เจอร์ไรเซอร์ถูกออกแบบมาเพื่อปรับปรุงคุณภาพของผิว รักษาและฟื้นฟูความชุ่มชื้นในชั้นผิวกำพร้า ตลอดจนคงความเรียบเนียนและยืดหยุ่นของผิว พร้อมดูแลอาการผิวแห้ง ดังนั้นผลิตภัณฑ์มอยส์เจอร์ไรเซอร์สามารถทำให้ผู้ใช้มีผิวสวยงามสุขภาพดี และฟื้นฟูผิวให้ดูอ่อนเยาว์โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผิว

     โดยทั่วไปแล้วส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์สำหรับผิวหน้า ผิวกาย และผิวมือไม่มีความแตกต่างกันมากนัก แม้ส่วนผสมในการทำสูตรจะเหมือนกันแต่ก็แตกต่างกันในเรื่องของปริมาณสารที่ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้น นอกจากนี้ การแยกมอยส์เจอร์ไรเซอร์สำหรับส่วนต่างๆ ของร่างกายจะขึ้นอยู่กับสภาะวะความชุ่มชื้นบริเวณนั้นๆ เพราะผิวของเราในแต่ละจุดต้องการความชุ่มชื้นที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น การล้างมือบ่อยๆ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือมักจะทำให้มือแห้ง ผิวมือจึงตองการความชุ่มชื้นมากเป็นพิเศษนั่นเอง และยังมีเรื่องของผิวแพ้ง่าย ซึ่งผิวหน้ามีความบอบบางเป็นอย่างมากมีแนวโน้มที่จะอุดตันเป็นสิวได้ง่ายและแห้งกว่าผิวกาย จึงต้องเลือกสารให้ความชุ่มชื้นตามความต้องการของผิว เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้

     มอยส์เจอร์ไรเซอร์อยู่ในประวัติศาสตร์อันยาวนานจวบจนปัจจุบัน มีการพบผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิวในสถานที่ฝังศพโบราณในอียิปต์ กรีกโบราณ และโรม มีการใช้ลิพิด น้ำมัน แว๊กซ์ เนย และไขมันสัตว์ต่างๆ เพื่อบำรุงผิวหน้าและผิวกาย เพื่อปกป้องผิวจากสภาพอากาศ ป้องกันผิวแห้ง ทำให้ผิวนุ่มขึ้น และชะลอการเกิดริ้วรอย โดยส่วนผสมที่นิยมใช้สมัยก่อน ได้แก่ น้ำมันอะโวคาโด น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะกอก น้ำมันงา น้ำมันเทียนดำ น้ำมันสะเดา น้ำมันโรสฮิป และไขมันสัตว์ ต่อมาในศตวรรษที่ 19 มีการจำหน่ายวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์โฮมเมด และเริ่มมีการผลิต ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปออกมา และส่วนผสมที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ "ปิโตรเลียมเจลลี่" ที่ได้จากการขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งช่วยบำรุงผิวแห้ง ดูแลบาดแผลและแผลไฟไหม้ จากนั้นมีการพัฒนาสารที่ช่วยประสานน้ำกับน้ำมันขึ้นมาเพื่อเปิดตัวครีมบำรุงผิวตัวแรก ซึ่งมีประโยชน์ในการปลอบประโลมและซ่อมแซมผิว ในศตวรรษที่ 20 เริ่มมีการใช้ซิลิโคนในเครื่องสำอาง และยังใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้ว่ามอยส์เจอร์ไรเซอร์ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จากอดีตถึงปัจจุบัน มีหลากหลายมากมายให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมของสภาพผิวแต่ละบุคคล

จากมุมมองของผู้บริโภค มอยเจอร์ไรเซอร์บำรุงผิวที่มีคุณภาพควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • กลิ่นและสีเป็นที่พึงพอใจ
  • เกลี่ยง่าย ให้ความรู้สึกสบายผิวขณะทา
  • ไม่มัน / ไม่เหนียวเหนอะหนะหลังทา
  • ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน
  • ให้ความชุ่มชื้นอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันการสูญเสียน้ำในผิว
  • ให้การปกป้องผิวจากปัจจัยแวดล้อม เช่น ลม ความเย็น แสงยูวี
  • ลดความแห้งกร้านและความหมองคล้ำ
  • บำรุงผิวให้เนียนนุ่ม
  • ช่วยให้ผิวทนทานและไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้

จากมุมมองของนักวิจัย คุณสมบัติทางเทคนิคของมอยเจอร์ไรเซอร์บำรุงผิวควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • มีความเสถียรในระยะยาว
  • ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์
  • คุณสมบัติการไหลที่เหมาะสม
  • เนื้อเนียนละเอียด
  • ประสิทธิภาพที่เหมาะสม
  • มีความปลอดภัยต่อผิวหนัง

1. Corneocyte Process
Corneocyte เป็นเซลล์ผิวชั้นบนที่พร้อมจะหลุดออกเป็นขี้ไคล มีหน้าที่ปกป้องผิวจากอันตรายภายนอก ป้องกันการสูญเสียน้ำในผิว เป็นทางผ่านของสารที่จะเข้าสู่ผิว

2. Stratum Corneum Lipid Process
ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันไม่ให้ความชุ่มชื้นระเหยออกจากผิวและเป็นทางเข้าของสารที่จะผ่านเข้าสู่ผิว

3. Natural Moisturizing Factor (NMF) Process
NMF พบที่ภายในของ Corneocytes ประกอบไปด้วยกรดอะมิโน แลคเตต ยูเรีย และอิเล็กโทรไลต์ เป็นโมเลกุลอุ้มน้ำที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นภายในเซลล์ Corneocytes ทำให้ชั้นผิวชุ่มชื้น 

4. Desquamation Process
เป็นกระบวนการลอกหลุดของ Corneocytes ออกไปเป็นขี้ไคล ใช้เวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 14 วัน หากผิวมีความชุ่มชื้นต่ำกระบวนการก็จะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพทำให้เกิดเซลล์ Corneocytes สะสมบนผิวซึ่งเป็นสัญญาณของอาการผิวแห้ง

สารให้ความชุ่มชื้นแบ่งหลักๆ 3 ประเภท ตามคุณสมบัติทางกายภาพ ทางเคมี และกลไกการออกฤทธิ์ ได้แก่ 

1. Humectants
     คือ สารที่ให้ความชุ่มชื้นผิว สารในกลุ่มนี้ ทำหน้าที่ในการกักเก็บน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงผิวชั้นบน โดยการดูดซับความชื้นจากสิ่งแวดล้อม สามารถดึงน้ำได้จาก 2 แหล่ง คือ จากชั้นหนังแท้และความชื้นในอากาศ และยังช่วยให้ผิวเรียบเนียนขึ้น โดยสร้างพันธะไฮโดรเจนกับโมเลกุลของน้ำ เพื่อทดแทน NMF ที่สูญเสียไป มีคุณสมบัติในการละลายน้ำ นอกจากนี้สารบางตัวที่ใช้ในมอยส์เจอร์ไรเซอร์นั้นก็เป็นส่วนประกอบของผิวเช่นกัน เช่น กรดแลคติคและยูเรีย
      เนื่องจาก Humectant สามารถดึงน้ำจากชั้นหนังแท้ได้ ในกรณีที่ในอากาศมีความชื้นต่ำ น้ำในผิวชั้นบนจะระเหยออกไปมากกว่าปกติทำให้ผิวสูญเสียน้ำมากเกินไป แล้วยิ่งเกราะป้องกันผิวถูกทำลายก็ยิ่งเพิ่มการระเหยของน้ำ ดังนั้นในสูตรสกินแคร์จึงมักมีส่วนผสมของสารที่ช่วยอุ้มน้ำและสารที่บล็อกการระเหยของน้ำอยู่ด้วย ตัวอย่างสารกลุ่มนี้ ได้แก่

  • มอยส์เจอร์ไรเซอร์โมเลกุลเล็ก: Glycerin (Glycerol), Sorbitol, Propylene Glycol
  • มอยส์เจอร์ไรเซอร์โมเลกุลขนาดใหญ่: Glycosaminoglycans (Hyaluronic Acid), Elastin, Collagen
  • มอยส์เจอร์ไรเซอร์ตามธรรมชาติผิว: PCA, Urea, Lactic Acid, Phospholipid

Did You Know รู้หรือไม่? Glycerin ช่วยลดการระเหยของน้ำในผิว (TEWL) ได้ 29% ข้อเสียคือถ้าใส่ในสูตรปริมาณมากจะทำให้เกิดความรู้สึกเหนอะหนะ จึงมักจะใส่คู่กับ Hyaluronic Acid และ Sodium Pyrrolidone Carboxylic Acid (PCA) เพื่อลดความเหนอะหนะ

2. Emollients
     เป็นกลุ่มสารที่เติมความชุ่มชื้นให้ผิวโดย เข้าไปเติมอยู่ในช่องว่างระหว่างเซลล์ Corneocyte ทำให้ผิวเรียบและลื่นขึ้น โดยช่วยเติมเต็มความชุ่มชื้นแทนที่ในส่วนของลิพิดที่สูญเสียไปในผิวชั้นบน และยังช่วยปกป้องผิวให้ผิวนุ่มลื่น มีคุณสมบัติในการละลายน้ำมัน (Lipophilic) ป้องกันผิวแห้ง ลดการสูญเสียน้ำจากผิวหนัง สารในกลุ่มนี้บางตัวสามารถก่อให้เกิดการอุดตันบนผิวได้หากทาหนักเกินไป แหล่งที่มาได้จากทั้งธรรมชาติและสังเคราะห์ทางเคมี ตัวอย่างสารกลุ่มนี้ ได้แก่

  • ไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbons): Mineral Oil, Petrolatum, Polyisobutene
  • กรดไขมัน (Fatty Acids): Stearic Acid, Linoleic Acid, Lauric Acid, Myristic Acid, Palmitic Acid
  • น้ำมันพืช (Vegetable Oils): Almond Oil, Avocado Oil, Jojoba Oil, Rosehip Oil, Olive Oil, Argan Oil
  • ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides): Caprylic/Capric Triglyceride, Lauric/Palmitic/Oleic Triglyceride
  • ซิลิโคน (Silicones): Dimethicone, Diphenyl Dimethicone
  • แว็กซ์ (Waxes): Beeswax, Carnauba Wax, Polyethylene Wax, Cetyl Alcohol
  • อนุพันธ์ของลาโนลิน (Lanolin Derivatives): Isopropyl Lanolate, Acetylated Lanolin, Glyceryl Lanolate
  • โพลิเมอร์ (Polymers): Hydrogenated Polydecene, Hydrogenated Polyisobutene
  • กรดไขมันที่จำเป็น (Essential Fatty Acids): C18 Unsaturated Linoleic, Alpha-Linoleic Acids

3. Occlusives

     คือ สารที่ให้ความชุ่มชื้นที่เคลือบอยู่บนผิวชั้น Stratum Corneum (ผิวกำพร้าชั้นบนสุด) เพื่อลดการระเหยของน้ำในชั้นผิว (Transepidermal Water Loss) มีประสิทธิภาพในการบำรุงผิวแห้งที่ได้รับความเสียหายได้เป็นอย่างดี สารที่เป็น Occlusive Agent ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็น Emollient อยู่แล้ว เช่น Lanolin, Mineral Oil, Dimethicone เป็นต้น

Did You Know รู้หรือไม่? Petroleum Jelly 5% ช่วยลด TEWL ได้มากกว่า 98% แต่อุดตันผิว รองลงมาคือ Lanolin Mineral Oil และ Silicone (เช่น Dimethicone) ซึ่งลด TEWL เพียง 20%-30% 

Skin Rejuvenators 

     ตัวช่วยฟื้นฟูผิว สารฟื้นฟูผิว หรือที่เรียกว่าสารเพิ่มเกราะป้องกันผิว ช่วยฟื้นฟู ปกป้อง และเสริมการทำงานของเกราะป้องกันผิว พร้อมช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว นี่คือกลุ่มใหม่ล่าสุดในบรรดาส่วนผสมของมอยเจอร์ไรเซอร์ หมวดหมู่นี้รวมถึง โปรตีน เคราติน อีลาสติน และคอลลาเจน 

Ceramides

     เซราไมด์พบได้ตามธรรมชาติของผิว อยู่ภายนอกล้อมรอบเซลล์ Corneocytes ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันผิว ปกป้องผิว และช่วยควบคุมสมดุล โครงสร้างเซราไมด์ถูกจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบในรูปแบบของลาเมลลาร์ (Lamellar) หากผิวขาดเซราไมด์เกราะป้องกันผิวจะมีประสิทธิภาพด้อยลง นอกจากนี้การเติมเซราไมด์เข้าสู่ผิวสามารถช่วยลดอาการผิวแห้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Emulsifiers
     อิมัลซิไฟเออร์เป็นสารที่ช่วยประสารน้ำมันและน้ำเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า อิมัลชัน ปัจจุบันอิมัลซิไฟเออร์บางตัวยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในผิวได้อีกด้วย หน้าที่สำคัญของสารกลุ่มนี้คือช่วยให้อิมัลชันมีความคงตัว ในบางตัวให้ความหนืดได้ และปรับผิวสัมผัส ประเภทที่ใช้บ่อยที่สุด ได้แก่ Nonionic และ Polymeric Surfactants

Thickening Agents
     สารขึ้นเนื้อหรือสารเพิ่มความข้น ใช้ขึ้นเนื้อเซรั่ม ครีม หรือโลชั่นต่างๆ ให้สัมผัสแก่ผิว ช่วยให้เนื้อครีมมีความคงตัว ตัวอย่างของสารที่ใช้กันทั่วไปในผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิว ได้แก่ สารที่ละลายในน้ำ เช่น Xanthan Gum, Hydroxyethyl Cellulose, Acrylic Polymers และสารที่ละลายในน้ำมัน เช่น Cetyl Alcohol, Stearic Acid, Stearyl Alcohol เป็นต้น

Water
     Water หรือ Aqua คือ น้ำ เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการทำอิมัลชัน โดยทั่วไปน้ำที่ใช้จะเป็น Deionized Water

Preservative
     สารกันเสียช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในสูตร ตัวอย่างเช่น Phenoxyethanol, Paraben, Sodium Benzoate เป็นต้น

Antioxidant

     สารแอนตี้ออกซิแดนท์ หรือต้านอนุมูลอิสระ ใช้ในสูตรที่ประกอบด้วยสารที่ไวต่อกระบวนการออกซิเดชั่น ช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของสาร เช่น การเปลี่ยนสี กลิ่นหืน และความคงตัว ตัวอย่าง เช่น Butylated Hydroxyanisole (BHA), Butylated Hydroxytoluene (BHT), Vitamin E เป็นต้น

Fragrance
     สารหอม ช่วยให้เนื้อผลิตภัณฑ์มีกลิ่นหอม หรือกลบกลิ่นที่ไม่ต้องการ ส่วนมากนิยมใช้กับผิวตัว ไม่นิยมใช้กับผิวหน้า 

Sunscreen
     สารกันแดด ช่วยปกป้องผิวจากรังสี UVA และ UVB ป้องกันผิวจากอันตรายที่มาพร้อมกับแสงแดด ลดโอกาสในการเกิดมะเร็งผิวหนัง ตัวอย่างสารกันแดด ได้แก่ 

สารกันแดดกายภาพ เช่น Zinc Oxide, Titanium Dioxide 

สารกันแดดเคมี เช่น OMC, Octocrylene, Avobenzone, DHHB

สารกันแดดไฮบริด เช่น BEMT, MBBT, TBPT

Coloring Agent
     สารแต่งสี ช่วยให้เนื้อผลิภัณฑ์มีสีสัน มีทั้งสีที่ละลายน้ำและละลายน้ำมัน ซึ่งส่วนมากจะนิยมแต่งเป็นสีอ่อนๆ เพื่อป้องกันไม่ให้สีติดผิวจนมองเห็นได้ชัด

Aesthetic Agent
     สารเพิ่มความสวยงาม ช่วยเพิ่มลูกเล่นให้เนื้อผลิตภัณฑ์ เช่น เม็ดบีดส์รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เม็ดกลมขนาดต่างๆ กลีบดอกไม้ เส้นใย เป็นต้น

Electrolytes
     อิเล็กโทรไลต์มักจะใช้ในสูตร W/Si emulsion เพื่อปรับความเสถียรของสูตร ตัวอย่างเช่น Sodium Citrate, Magnesium Sulfate, Sodium Chloride, Sodium Tetraborate เป็นต้น

Functional Ingredients

     สารสำคัญ หรือ Active Ingredient ช่วยทำหน้าที่บำรุงผิว ไม่ว่าจะเป็น ให้ความชุ่มชื้นผิว บำรุงผิว ปกป้องผิว ปรับสภาพผิว เป็นต้น โดยแบ่งประเภทหลักๆ ได้ดังนี้

1. Natural Additives สารเติมแต่งจากธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น สารสกัดจากผัก ผลไม้ และพืชธรรมชาติ
2. Vitamins วิตามิน ตัวอย่างเช่น Ascorbic Acid, Tocopherol, DL-Panthenol, Niacinamide
3. Peptides and Proteins เปปไทด์และโปรตีน ตัวอย่างเช่น Hydrolyzed Proteins, Amino Acids, Proteoglycans, Collagen, Hyaluronic Acid
4 .Essential Fatty Acids กรดไขมันจำเป็น ตัวอย่างเช่น Linolenic Acid
5. Hydroxy Acids กรดไฮดรอกซี ตัวอย่างเช่น AHA, BHA, PHA, LHA 
6. Beta-Glucans เบต้ากลูแคน เป็นกลุ่ม Polysaccharide ที่ได้จากข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี และยีสต์ขนมปัง

1. สารหอม (Fragrances)
สารหอมเป็นสารกระตุ้นอาการแพ้ในผิว บางตัวก่อให้เกิดการระคายเคืองมาก ข้อดีคือช่วยกลบกลิ่นที่ไม่ต้องการ สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้แต่ก็อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ 

2. ลาโนลิน (Lanolin)
ลาโนลินได้มาจากขนแกะ ในลาโนลินเองประกอบด้วยสารเคมีต่างๆ หลายร้อยชนิด ทำให้แยกสารก่อภูมิแพ้ออกมาได้ยากและยังก่อให้เกิดการอุดตันได้สูง ดังนั้นให้ทดสอบการระคายเคืองกับผิวบริเวณใต้ท้องแขนก่อนใช้งานจริง

3. ยูเรีย (Urea)
ยูเรียเป็นสารให้ความชุ่มชื้นที่มีประสิทธิภาพ แต่ผลทางคลินิกบางอันยูเรียสามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้ แต่ส่วนใหญ่พบว่าไม่ได้มีความรุนแรงแม้จะใช้ความเข้มข้นสูง 

4. โพรพิลีนไกลคอล (Propylene Glycol)
โพรพิลีนไกลคอลใช้ในผลิตภัณฑ์หลายชนิดในฐานะสารให้ความชุ่มชื้นและตัวทำละลาย ให้ความชุ่มชื้นไดีดีและยังเพิ่มการซึมผ่านของสารตัวอื่นๆ ได้ด้วย อย่างไรก็ตามได้มีการทดสอบความปลอดภัยของโพรพิลีนไกลคอลที่ความเข้มข้น 50% พบว่าคนที่มีเกราะป้องกันผิวเสียหายมีความเสี่ยงสูงต่อการระคายเคืองและแพ้ได้ง่าย

5. สารสกัดจากสมุนไพร (Herbal extracts)
สารสกัดจากสมุนไพรอาจทำให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองได้ เนื่องจากมีองค์ประกอบทางเคมีหลายอย่าง อย่างไรก็ตามปฏิกิริยาเหล่านี้พบได้น้อย อาจเป็นเพราะใช้ความเข้มข้นต่ำ

ขวดพลาสติก: ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิวกายส่วนใหญ่จะบรรจุในขวดพลาสติก ขวดพลาสติกอาจจะประกอบเข้ากับหัวปั๊ม ฝาฟลิบ ฝาเกลียว หรือฝากด

หลอด: โลชั่นและครีมสำหรับผิวหน้าและผิวมือส่วนใหญ่จะบรรจุในหลอดพร้อมฝาฟลิบ ฝาเกลียว หรือฝากด

กระปุกพลาสติกและกระปุกแก้ว: มอยเจอร์ไรเซอร์บำรุงผิวหน้าส่วนใหญ่จะนิยมบรรจุในกระปุก เพื่อความสวยงามและหรูหรา


     สำหรับ EP.08 นี้ได้กล่าวถึงสารให้ความชุ่มชื้นในแต่ละกลุ่มไปแล้ว หวังว่าจะช่วยให้คุณมีไอเดียในการทำสูตรสกินแคร์ได้นะคะ EP หน้าจะเกี่ยวกับหัวข้อไหนรอติดตามได้เลยค่ะ!


บทความที่เกี่ยวข้อง
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.29 การโฆษณาเครื่องสำอาง (Cosmetics Advertising) อัปเดทล่าสุดปี พ.ศ.2567
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ขายดีย่อมต้องมีการโฆษณา ซึ่งเป็นกลยุทธหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ แต่การที่จะโฆษณาเครื่องสำอางได้นั้นก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการโฆษณาเครื่องสำอาง และปัจจุบันทางกองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายได้มีการปรับปรุงคู่มือการโฆษณา ฉบับล่าสุดปี พ.ศ.2567
9 ธ.ค. 2024
Complete Guide เริ่มต้นธุรกิจสปา ตั้งแต่คิดคอนเซปจนถึงเปิดร้าน
เรียนรู้ขั้นตอนสำคัญในการวางแผนทำธุรกิจร้านสปา ตั้งแต่เริ่มต้นคิดคอนเซปต์จนถึงวันเปิดร้านวันแรก เรียนรู้เรื่องการเงิน และการตลาดสู่ความสำเร็จของธุรกิจ
26 พ.ย. 2024
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.28 ข้อควรรู้! สารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอาง
สารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอางมีอะไรบ้าง? ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อหรือเริ่มต้นสร้างแบรนด์ ใน EP.28 นี้ TNP ได้สรุปสารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอางประเภทต่างๆ มาให้แบบเข้าใจง่าย
9 ต.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ