แชร์

R&D Talk EP.05 เทคนิคการตั้งตำรับเครื่องสำอาง ตอน รูปแบบของเครื่องสำอาง (Cosmetic Dosage Form)

อัพเดทล่าสุด: 24 มิ.ย. 2024
4231 ผู้เข้าชม

     เข้าสู่ EP.05 มารู้จักกับรูปแบบของเครื่องสำอางที่มีในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง โดยรูปแบบของเครื่องสำอางเป็นการกำหนดลักษณะทางกายภาพของเครื่องสำอางในขั้นตอนสุดท้ายของการผสมวัตถุดิบ โดยที่ผู้บริโภคสามารถซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและนำไปใช้ได้เลย เหตุที่ต้องกำหนดรูปแบบของเครื่องสำอางขึ้นมาเนื่องจากเราไม่สามารถซื้อวัตถุดิบแต่ละอย่างแล้วนำมาผสมใช้เองได้ ส่วนผสมในเครื่องสำอางจะต้องอยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้โดยมีอัตราส่วนที่เหมาะสมสามารถใช้กับผิว ผม หรือช่องปากได้โดยตรง

รูปแบบของเครื่องสำอางสามารถจำแนกตามลักษณะทางกายภาพได้เป็น ของเหลว กึ่งของแข็ง และของแข็ง

 ของเหลว (Liquid)  สามารถเทได้ มีส่วนผสมที่เป็นของเหลว เมื่อเทลงบนมือจะไหลออกจากมือ ได้แก่ โซลูชัน (Solution), โลชัน (Lotion), และ แขวนลอย (Suspension)

 กึ่งของแข็ง (Semi Solid)  มีทั้งส่วนผสมของของแข็งและของเหลว ลักษณะข้นหนืด ได้แก่ ครีม (Cream), ขี้ผึ้ง (Ointment), เพสต์ (Pastes), และเจล (Gel)

 ของแข็ง (Solid)  มีส่วนผสมของของแข็งที่แห้งที่ถูกผสมหรือถูกอัดเข้าไว้ด้วยกัน หรือของแข็งที่เป็นเนื้อแว็กซ์มีลักษณะรูปร่างเฉพาะ ได้แก่ แป้งฝุ่น (Loose Powder), แป้งอัดแข็ง (Pressed Powder), สติก (Stick), และแคปซูล (Capsule)

     ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแต่ละประเภทจะมีรูปแบบที่เหมาะสมตามการใช้งาน เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ได้ง่ายและสะดวกนักวิจัยจึงต้องพิจารณารูปแบบของเครื่องสำอางให้เหมาะสมต่อการใช้งานมากที่สุด แล้วเมื่อเลือกรูปแบบของเครื่องสำอางได้แล้ว นักวิจัยจะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างรวมไปถึงคุณสมบัติของสารที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นประเภทละลายน้ำ (Hydrophilic) หรือละลายน้ำมัน (Lipophilic) ของเหลวหรือของแข็ง และความเข้ากันได้ของสารแต่ละตัว และจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการใช้ผลิตภัณฑ์และพื้นที่ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น การบำรุงเส้นผม ควรเลือกรูปแบบที่ใช้ได้ง่ายและล้างทำความสะอาดได้ ซึ่งรูปแบบโลชันจะเหมาะสมกว่าขี้ผึ้ง

รูปแบบของเครื่องสำอางตามการใช้งานแบ่งได้ดังนี้

 โซลูชัน (Solution) 

โซลูชัน คือ สารละลายที่เป็นของเหลว ไหลได้และเปลี่ยนรูปร่างไปตามภาชนะบรรจุที่อุณหภูมิห้อง มีลักษณะเป็นของเหลวใสและเป็นเนื้อเดียวกันซึ่งมีสารเคมีตั้งแต่หนึ่งชนิดขึ้นไปที่ละลายในตัวทำละลายหรือส่วนผสมของตัวทำละลายที่ผสมเข้ากันได้

จำแนกตามประเภทของตัวทำละลายที่ใช้ ซึ่งมีดังต่อไปนี้:

1. สารละลายน้ำ (Water-Based) มีน้ำเป็นเนื้อเบส เช่น ผลิตภัณฑ์ลบเครื่องสำอาง (Makeup Remover), สบู่ล้างมือ (Hand Soap), แชมพู (Shampoo)
2. สารละลายแอลกอฮอล์ (Hydroalcoholic Solution) มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และน้ำเป็นเนื้อเบส เช่น สเปรย์ฉีดผม (Hair Spray), น้ำยาบ้วนปาก (Mouthwash), โคโลญจน์หลังโกนหนวด (Aftershave Cologne), และโทนเนอร์เช็ดหน้า (Facial Toner)
3. สารละลายปราศจากน้ำ (Anhydrous Solution) มีส่วนผสมอื่นที่ไม่ใช่น้ำเป็นตัวนำ เช่น สารทําละลายอินทรีย์ (Organic Solvent) สำหรับผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างเล็บหรือน้ำยารองพื้นเล็บ รวมไปถึงสารละลายที่มีส่วนประกอบของน้ำมันสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันอาบน้ำ

 อิมัลชัน (Emulsion) 

อิมัลชัน หมายถึง ระบบคอลลอยด์ (colloid) ที่ประกอบด้วยของเหลวตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ซึ่งปกติไม่ผสมเป็นเนื้อเดียวกัน เช่น น้ำกับน้ำมัน และในอิมัลชันมี 2 วัฏภาค คือ

1. วัฏภาคภายใน หรือส่วนที่กระจายตัว (Internal/Dispersed Phase)
2. วัฏภาคภายนอก หรือส่วนที่ต่อเนื่อง (External/Continuous Phase)

โดยส่วนที่กระจายตัวจะแตกตัวเป็นหยดเล็กๆ กระจายตัวแทรกอยู่ในของเหลวอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถทำให้เสถียรได้ด้วยสารช่วยประสานน้ำมันและน้ำ (Emulsifier)

ส่วนประกอบสำคัญของอิมัลชัน ได้แก่ เฟสน้ำมัน (Oil Phase) เฟสน้ำ (Water Phase) และสารช่วยประสานน้ำมันและน้ำ (Emulsifier) 

อิมัลชันมี 2 ประเภทหลัก คือ อิมัลชันชนิดน้ำมันในน้ำ และอิมัลชันชนิดน้ำในน้ำมัน
1. อิมัลชันชนิดน้ำมันในน้ำ (Oil-in-Water Emulsion: O/W) มีน้ำมันเป็นวัฏภาคภายในและน้ำเป็นวัฏภาคภายนอก หรือก็คือน้ำมันจะกระจายตัวในน้ำ โดยที่อิมัลซิไฟเออร์จะเคลือบผิวน้ำมันทำให้สามารถผสมกับน้ำได้มากขึ้น

2. อิมัลชันชนิดน้ำในน้ำมัน (Water-in-Oil Emulsion: W/O) มีน้ำเป็นวัฎภาคภายในและน้ำมันเป็นวัฏภาคภายนอก หรือก็คือน้ำจะกระจายตัวในน้ำมัน โดยที่โมเลกุลของสารลดแรงตึงผิวจะมีส่วนหัวที่ชอบน้ำ (Hydrophilic) ซึ่งมุ่งไปยังเฟสน้ำ และส่วนหางที่ไม่ชอบน้ำ (Hydrophobic) จะเข้าหาหยดน้ำมัน

     นอกจากนี้ยังมีอิมัลชันชนิดน้ำในซิลิโคน (Water-in-Silicone: W/Si) มีน้ำเป็นวัฎภาคภายในและซิลิโคนเป็นวัฏภาคภายนอก หรือก็คือน้ำจะกระจายตัวในซิลิโคน ให้สัมผัสที่ไม่เหมือนใคร ไม่เหนียวเหนอะหนะผิว และแห้งเร็ว ทำให้ผิวเรียบเนียน เหมาะสำหรับสูตรรองพื้น อายแชโดว์ และครีมกันแดด เป็นต้น และอิมัลชันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น อิมัลชันชนิดน้ำในน้ำมันในน้ำ (Water-in-Oil-in-Water: W/O/W) ซึ่งจะเป็นอิมัลชันในอิมัลชัน

ผลิตภัณฑ์ที่ใช้รูปแบบอิมัลชัน ได้แก่ โลชั่นและครีม

โลชัน (Lotion) เป็นอิมัลชันที่มีความหนืดต่ำ มีลักษณะเป็นของเหลวสามารถเทจากขวดหรือปั๊มจากขวดได้ โลชันประกอบด้วยน้ำในปริมาณที่สูงกว่าครีมจึงมีความมันน้อยกว่าและล้างทำความสะอาดได้ง่าย ตัวอย่างของโลชัน เช่น โลชันบำรุงผิว คลีนซิ่งน้ำนม รองพื้นชนิดน้ำ และสเปรย์กันแดด เป็นต้น

ครีม (Cream) เป็นอิมัลชันกึ่งแข็ง (Semi Solid Emulsion) มีความหนืดสูง มีส่วนประกอบของน้ำและสารระเหยมากกว่า 20% และส่วนประกอบของไฮโดรคาบอน แว็กซ์ หรือโพลีออล น้อยกว่า 50% เนื่องจากมีส่วนของน้ำมันสูงจึงมักจะมีความมันมากกว่าโลชัน เนื้อครีมไหลได้ช้าจึงมักบรรจุลงในหลอดหรือกระปุก ตัวอย่างของครีม เช่น ครีมให้ความชุ่มชื้น ครีมนวดผมแบบไม่ล้างออก ครีมกันแดด และครีมกำจัดขน เป็นต้น

สารแขวนลอย (Suspension) 
สารแขวนลอยเป็นรูปแบบที่มีส่วนผสมของของแข็งที่ไม่ละลายน้ำกระจายตัวในตัวกลางที่เป็นของเหลว แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. สูตรที่มีเบสเป็นน้ำ เช่น แป้งน้ำ
2. สูตรที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น โทนเนอร์บำรุงผิว
3. สูตรที่ปราศจากน้ำ เช่น สเปรย์ระงับเหงื่อ สีทาเล็บ มาสคาร่า อายไลเนอร์ และลิปกลอส

     สารแขวนลอยคล้ายกับอิมัลชัน มีความไม่เสถียร มีอนุภาคที่ไม่ละลายน้ำ มีแนวโน้มที่จะตกตะกอนที่ก้นภาชนะเมื่อเวลาผ่านไป ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเสถียรของสารแขวนลอย ได้แก่ ความหนืด ความแตกต่างของความหนาแน่นระหว่างสองเฟส ขนาดของอนุภาคที่ไม่ละลายน้ำ และความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วง สารแขวนลอยสามารถเพิ่มความเสถียรได้โดยการเพิ่มความหนืดและลดขนาดของอนุภาคที่ไม่ละลายน้ำให้เล็กลง จะช่วยชะลอการตกตะกอนได้

 ขี้ผึ้ง (Ointment) 

ขี้ผึ้งเป็นรูปแบบที่มีลักษณะกึ่งแข็ง มีน้ำและสารระเหยน้อยกว่า 20% และมีส่วนประกอบของไฮโดรคาบอน แว็กซ์ หรือโพลีออล มากกว่า 50% ถ้าในสูตรไม่มีส่วนประกอบของน้ำเลยโอกาสปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์จะต่ำมาก เมื่อทาที่ผิวจะให้ความรู้สึกเคลือบผิว (Occlusive) มีความมัน หนียวเหนอะหนะ หนักผิว เหมาะสำหรับผิวที่แห้งมาก ตัวอย่างของขี้ผึ้ง เช่น ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม บาร์มทาเฉพาะจุด

 เพสต์ (Paste) 

เพสต์เป็นรูปแบบที่มีลักษณะกึ่งแข็ง มีความหนืดมาก ยากต่อการทาและเกลี่ยให้ทั่วผิว มีส่วนประกอบของของแข็ง 20-50% กระจายตัวในไขมัน ตัวอย่างของเพสต์ เช่น ยาสีฟัน

 เจล (Gel) 

เจลเป็นรูปแบบกึ่งแข็ง มีลักษณะโปร่งใส ประกอบด้วยสารก่อเจลที่ช่วยเพิ่มความหนืดและมีส่วนของน้ำในปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับรูปแบบกึ่งของแข็งอื่นๆ เมื่อน้ำระเหยออกไปจะทำให้เกิดความเย็นทำให้สดชื่น เจลแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
1. สูตรน้ำ เช่น เจลล้างหน้าและเจลบำรุงผิวหลังออกแดด 
2. สูตรผสมแอลกอฮอล์ เช่น เจลแต่งผมและเจลทำความสะอาดมือ

 ผง (Powder) 

ผงเป็นรูปแบบที่เป็นของแข็ง มีลักษณะแห้งและละเอียด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ แป้งอัดแข็งและแป้งฝุ่น
1. แป้งอัดแข็ง (Pressed powder) มีส่วนผสมของของแข็งที่ไหลได้อย่างอิสระผสมกับสารที่ช่วยยึดเกาะของแข็ง จากนั้นจึงทำการบีบอัดให้เป็นรูปทรงต่างๆ ตัวอย่างแป้งอัดแข็ง อายแชโดว์ แป้งพัฟ บลัชออน และบาธบอมบ์
2. แป้งฝุ่น (Loose powder) มีส่วนผสมของของแข็งที่ไหลได้อย่างอิสระ ตัวอย่างแป้งฝุ่น แป้งฝุ่นสำหรับผิวหน้า บลัชออน อายแชโดว์แป้งเด็ก และเกลืออาบน้ำ

 แคปซูล (Capsule) 

แคปซูลเป็นรูปแบบที่เป็นของแข็ง ประกอบด้วยส่วนของเปลือกและตัวยา เปลือกแคปซูลอาจทำมาจากเจลาติน แป้ง หรือเซลลูโลสหรือวัสดุอื่นๆ ที่เหมาะสม อาจนิ่มหรือแข็ง และบรรจุด้วยส่วนผสมที่เป็นของแข็งหรือของเหลวที่สามารถเทหรือบีบได้ ในเครื่องสำอางแคปซูลมักจะมีเปลือกภายนอกเป็นเจลาตินแบบนิ่มและมีส่วนผสมของของเหลวอยู่ข้างในแคปซูล ตัวอย่างของแคปซูล แคปซูลบำรุงผิว เม็ดบีดส์สำหรับอาบน้ำ เป็นต้น

 สติก (Stick) 

สติกเป็นรูปแบบที่เป็นของแข็ง มีส่วนประกอบของแว็กซ์มากกว่าน้ำมัน มีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกค่อนข้างยาวและเรียว ตัวอย่างของสติก เช่น ลิปสติก ดินสอเขียนขอบปาก อายแชโดว์แบบแท่ง อายไลเนอร์ ดินสอเขียนขอบตา คอนซีลเลอร์ กันแดดแบบแท่ง เป็นต้น

 แอโรซอล (Aerosol) 

แอโรซอลเป็นลักษณะของบรรจุภัณฑ์มากกว่าผลิตภัณฑ์ประเภทใดประเภทหนึ่ง เมื่อฉีดพ่นออกมาจะมีลักษณะเป็นละอองลอย ใช้งานได้ง่ายและแห้งอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างของแอโรซอล เช่น สเปรย์กันแดดอัดแก๊ส สเปรย์ระงับกลิ่นกายแบบอัดแก๊ส สเปรย์ฉีดผม เป็นต้น

 

รวมทุกรูปแบบของเครื่องสำอางเพื่อเป็นแนวทางในการทำสินค้าใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำใคร TNP COSMECEUTICAL เรามีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญมากกว่า 10 ปี ให้เราคิดค้นสูตรให้คุณอย่างมีประสิทธิภาพ ครบ จบ พร้อมขาย ปรึกษาฟรี!


บทความที่เกี่ยวข้อง
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.29 การโฆษณาเครื่องสำอาง (Cosmetics Advertising) อัปเดทล่าสุดปี พ.ศ.2567
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ขายดีย่อมต้องมีการโฆษณา ซึ่งเป็นกลยุทธหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ แต่การที่จะโฆษณาเครื่องสำอางได้นั้นก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการโฆษณาเครื่องสำอาง และปัจจุบันทางกองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายได้มีการปรับปรุงคู่มือการโฆษณา ฉบับล่าสุดปี พ.ศ.2567
9 ธ.ค. 2024
Complete Guide เริ่มต้นธุรกิจสปา ตั้งแต่คิดคอนเซปจนถึงเปิดร้าน
เรียนรู้ขั้นตอนสำคัญในการวางแผนทำธุรกิจร้านสปา ตั้งแต่เริ่มต้นคิดคอนเซปต์จนถึงวันเปิดร้านวันแรก เรียนรู้เรื่องการเงิน และการตลาดสู่ความสำเร็จของธุรกิจ
26 พ.ย. 2024
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.28 ข้อควรรู้! สารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอาง
สารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอางมีอะไรบ้าง? ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อหรือเริ่มต้นสร้างแบรนด์ ใน EP.28 นี้ TNP ได้สรุปสารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอางประเภทต่างๆ มาให้แบบเข้าใจง่าย
9 ต.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ