แชร์

R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.02 กว่าจะมาเป็นสารสกัดในเครื่องสำอาง (ตอน เอกสารเกี่ยวกับวัตถุดิบ Raw Material Documentation)

อัพเดทล่าสุด: 24 มิ.ย. 2024
1152 ผู้เข้าชม

     วัตถุดิบเครื่องสำอาง คือ ส่วนผสมอันสำคัญในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป การคัดเลือกวัตถุดิบมาใช้จะต้องมีเอกสารรับรองเกี่ยวกับวัตถุดิบ ซึ่งเอกสารเหล่านี้สำคัญมากกับนักวิจัย ช่วยบอกข้อมูลความปลอดภัย วิธีการใช้ที่ถูกต้อง รวมไปถึงการรับรองต่างๆ โดยเอกสารที่นักวิจัยควรรู้มีดังนี้

ในเอกสารมีหัวข้อความปลอดภัยที่สำคัญทั้งหมด 16 ข้อ

1. ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุดิบ และบริษัทผู้ผลิตและ/หรือผู้จัดจำหน่าย (Product Identification)
แสดงชื่อผลิตภัณฑ์ทางการค้า, ชื่อทางเคมี, การใช้งาน, บริษัทที่ผลิต, บริษัทผู้จัดจำหน่าย (ถ้ามี), หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน (ถ้ามี)

2. ข้อมูลความเป็นอันตราย (Hazards Identification)
แสดงถึงความเป็นอันตรายของวัตถุดิบ หากเป็นวัตถุอันตรายจะต้องจำแนกประเภท ติดข้อความแสดงข้อควรระวัง และติดฉลากเตือนความเป็นอันตรายตามระบบ GHS

*GHS (Globally Harmonised System for Classification and Labeling of Chemicals) เป็นระบบการจำแนกประเภท การติดฉลาก และการแสดงรายละเอียดบนเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet: SDS) ของสารเคมีและเคมีภัณฑ์ ที่องค์การสหประชาชาติพัฒนาขึ้น เพื่อให้ใช้สื่อสารและมีความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากสารเคมีนั้นๆ ในทิศทางเดียวกัน

3. ส่วนประกอบและข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสม (Composition/Information on Ingredients)
แสดงส่วนประกอบของสารทั้งหมดที่อยู่ในวัตถุดิบ ซึ่งวัตถุดิบบางอย่างอาจจะอยู่ในรูปสารเดี่ยวหรือสารผสม และบางทีก็บอกถึง CAS Number และ EC Number ซึ่งเป็นเลขประจำตัวของสารนั้นๆ ที่ระบุไว้ใน CosIng รวมไปถึงหน้าที่ของสาร และเปอร์เซ็นต์ของสาร

ตัวอย่าง: รายละเอียดสาร Niacinamide ที่ CosIng

4. มาตรการปฐมพยาบาล (First Aid Measures)
แสดงถึงคำแนะนำทั่วไป เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัส ผิวหนัง ตา เสื้อผ้า และบอกการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับวัตถุดิบ วิธีปฐมพยาบาลจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ชนิดของวัตถุดิบหรือสารนั้นๆ เช่น

เมื่อสูดดมสารเข้าไป (Inhaled): ถ้าเกิดอาการผิดปกติหลังจากการหายใจเอาฝุ่นสารเคมีเข้าไป ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกมายังสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ และนำตัวส่งแพทย์

เมื่อสัมผัสสารทางผิวหนัง (Skin Contact): ล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาดปริมาณมากทันที

เมื่อสารเข้าตา (Eye Contact): ให้ล้างตาด้วยน้ำปริมาณมากทันทีนานอย่างน้อย 15 นาที ถ้ายังมีการระคายเคืองให้ไปพบแพทย์

เมื่อกลืนกินสารเข้าไป (Ingestion): ล้างปากแล้วดื่มน้ำ 200-300 มิลลิลิตร ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ให้ไปพบแพทย์

5. มาตรการผจญเพลิง (Fire Fighting Measures)
แสดงข้อมูลจุดวาบไฟของสาร การระเบิด สารดับเพลิงที่เหมาะสมในการดับไฟ อุปกรณ์ป้องกันอันตราย รวมไปถึงอันตรายอื่นๆ เช่นสารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้

6. มาตรการจัดการเมื่อมีการหกรั่วไหล (Accidental Release Measures)
แสดงข้อควรระวังส่วนบุคคล ข้อควรระวังด้านสิ่งแวดล้อม วิธีการทำความสะอาดหรือการกักเก็บ 

7. การใช้และการจัดเก็บ (Handling and Storage)
แสดงข้อมูลเกี่ยวกับการระวังอันตรายจากการขนย้ายและการจัดเก็บวัตถุดิบ แตกต่างกันไปในแต่ละวัตถุดิบ เช่น 

การขนย้าย: หลีกเลี่ยงการหายใจเอาฝุ่น ละอองสาร ไอระเหยเข้าไป

การจัดเก็บ: จัดเก็บแยกจากอาหาร

วัสดุที่หมาะสมสำหรับภาชนะบรรจุ: โพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LDPE), โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง( (HDPE), อะลูมิเนียม, คาร์บอนสตีล (เหล็ก)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาวะการเก็บ: ปิดฝาภาชนะบรรจุให้แน่น เก็บไว้ในที่แห้งและเย็น หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการก่อตัวของฝุ่น 

ความคงตัวในการจัดเก็บ: ป้องกันจากความชื้น

8. การควบคุมการได้รับสัมผัสและการป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Exposure Controls/Personal Protection)
แสดงข้อมูลวัตถุดิบที่ต้องมีการควบคุมในสถานที่ทำงาน ถ้าสินค้าได้ผลิตอย่างถูกต้องและมีการระบายอากาศที่เหมาะสม ค่าควบคุมต่างๆ จะอยู่ในภาวะที่ปกติไม่เกินกว่าค่าจำกัด

แสดงข้อมูลอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น สวมชุดป้องกันระบบทางเดินหายใจถ้ามีการระบายอากาศไม่เพียงพอ มีละอองสารลอยในอากาศ หรือฝุ่นที่เข้าสู่ร่างกายทางการหายใจได้ ใช้ถุงมือป้องกันความร้อนเมื่อขนย้ายสารที่หลอมเหลวและร้อน ป้องกันดวงตาด้วยแว่นตานิรภัยชนิดมีกระบังหน้า เป็นต้น

แสดงข้อมูลมาตรการทั่วไปด้านความปลอดภัยและสุขอนามัย เช่น ห้ามรับประทานอาหาร ดื่ม หรือสูบบุหรี่เมื่อกำลังปฏิบัติงาน ควรล้างมือและใบหน้าก่อนหยุดพักและหลังเลิกกะ

9. คุณสมบัติทางกายภาพและเคมี (Physical and Chemical Properties)
แสดงข้อมูลลักษณะของวัตถุดิบทางกายภาพ เช่น รูปทรงเป็นเม็ดกลมเล็ก สีขาว กลิ่นเฉพาะ และลักษณะทางเคมี เช่น ค่าความเป็นกรดด่าง จุดเดือด จุดวาบไฟ ความไวไฟ อุณหูมิที่ติดไฟ ความหนาแน่น เป็นต้น

10. ความเสถียรและความไวต่อปฏิกิริยาเคมี (Stability and Reactivity)
แสดงข้อมูลอุณหภูมิที่เหมาะสมในการจัดเก็บวัตถุดิบ การกัดกร่อนต่อโลหะ สารอื่นที่ควรหลีกเลี่ยงในการทำปฏิกิริยาที่ก่อให้เกิดอันตราย

11. ข้อมูลด้านพิษวิทยา (Toxicological Information)
แสดงข้อมูลอาการที่ก่อให้เกิดพิษหรือการระคายเคืองเมื่อวัตถุดิบสัมผัสกับผิว ดวงตา การสูดดม และกลืนสาร เช่น เมื่อสัมผัสกับผิวไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง สัมผัสกับดวงตาก่อให้เกิดการระคายเคือง มีผลต่อเซลล์จนทำให้เซลล์กลายพันธุ์ ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เป็นต้น

12. ข้อมูลด้านนิเวศน์วิทยา (Ecological Information)
แสดงข้อมูลที่ประเมินความเป็นพิษต่อระบบนิเวศน์ เช่น สัตว์น้ำ รวมไปถึงการย่อยสลายทางชีวภาพ

13. ข้อพิจารณาในการกำจัด (Disposal Considerations)
ข้อมูลที่ตรวจสอบความเป็นไปได้ในการรีไซเคิลวัตถุดิบ หากต้องมีการเผาทำลายให้ทำลายในโรงงานเผาขยะที่เหมาะสมโดยปฏิบัติตามข้อกำหนด ส่วนภาชนะบรรจุที่ปนเปื้อนสาร ตรวจดูว่ารีไซเคิลได้หรือไม่ หากไม่ได้ให้พิจารณาวิธีกำจัดที่เหมาะสม

14. ข้อมูลสำหรับการขนส่ง (Transport Information)
แสดงข้อมูลการดูแลวัตถุดิบระหว่างขนส่ง และบอกถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างขนส่ง ทั้งทางบก อากาศ และน้ำ พร้อม UN Number (ถ้ามี) หากไม่มีเอกสาร SDS จะไม่สามารถขนส่งวัตถุดิบได้

15. ข้อมูลเกี่ยวกับกฎข้อบังคับ (Regulatory Information)
แสดงข้อมูลกฎหมายหรือข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของสารเคมี

16. ข้อมูลอื่น ๆ (Other Information)
แสดงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเตรียม SDS ที่ผู้จัดจำหน่ายประเมินแล้วเห็นว่าเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ และไม่ได้แสดงอยู่ในหัวข้อ 1-15 เช่น ข้อมูลอ้างอิง แหล่งข้อมูลที่รวบรวม ข้อมูลการปรับปรุงแก้ไข


คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ข้อกำหนดผลิตภัณฑ์ เป็นเอกสารที่สำคัญซึ่งสรุปข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณภาพและลักษณะของผลิตภัณฑ์ พร้อมระบุมาตรฐานการทดสอบของแต่ละข้อกำหนด เอกสารข้อกำหนดวัตถุดิบจะบอกรายละเอียด เช่น ลักษณะ กลิ่น สี ค่าความเป็นกรดด่าง รวมถึงการแจ้งอายุการเก็บรักษา วิธีเก็บรักษา และอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษา เป็นต้น ข้อกำหนดจะเปลี่ยนไปตามชนิดของวัตถุดิบเพื่อทำการทดสอบได้อย่างเหมาะสม เอกสารนี้จะได้รับก่อนที่นักวิจัยจะทำการทดลองวัตถุดิบ เพื่อพิจารณาข้อมูลก่อนทำการทดลองจริง


เอกสารรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ หรือใบวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ เป็นเอกสารที่ผู้ผลิตจัดทำขึ้นเพื่อยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นนั้นตรงตามความต้องการ ในเอกสารจะแสดงข้อมูลคุณภาพและลักษณะตามหัวข้อและมาตรฐานที่กำหนดไว้ใน Product Specification โดยมีการระบุข้อมูลและตัวเลขจากการตรวจสอบและทดสอบจากห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งระบุถึงมาตรฐานในการตรวจสอบและทดสอบในแต่ละหัวข้อ หัวข้อที่ต้องทดสอบ เช่น ลักษณะ กลิ่น สี ค่าความเป็นกรดด่าง และมีการบันทึกข้อมูลสำคัญ เช่น หมายเลขที่ผลิต วันที่ผลิต วันที่หมดอายุ วันที่ทำการทดสอบ ส่วนสุดท้ายของ COA จะมีลายเซ็นของ QA หรือ QC ที่ระบุว่าข้อมูลที่แสดงได้รับการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่มีคุณสมบัติและได้รับอนุญาต


เอกสารที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับสาร เช่น ส่วนประกอบของสาร วิธีการใช้ ข้อกำหนดในการปฏิบัติงาน การใช้งานทั่วไป คำเตือน ทางผู้ผลิตสารได้จัดทำขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลกับทางนักวิจัยและเพื่อการโฆษณา ในเอกสารจะมีเทคนิคการใช้งานสารที่ถูกต้อง ปริมาณสารที่ควรใช้ในแต่ละสูตรตำรับ ความเข้ากันกับสารตัวอื่นๆ รวมไปถึงข้อความที่ใช้ในการเคลมสรรพคุณของสาร ซึ่งเอกสารตัวนี้ไม่ได้มีความจำเป็นในการทำระบบมาตรฐาน แต่สำคัญสำหรับนักวิจัยที่ทดลองและพัฒนาสูตรเครื่องสำอาง


ตัวอย่างจาก : Southern Cross Botanicals

เอกสารแสดงข้อมูลการทดสอบต่างๆ เช่น การศึกษาแบบ in vivo, ex vivo, in vitro จำเป็นสำหรับนักวิจัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากสารออกฤทธิ์บางอย่างจะต้องดูผล in vivo ควบคู่ ดูเปอร์เซ็นต์สารออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จากผู้ผลิตยังสามารถช่วยอ้างอิงผลลัพธ์ในสูตรตำรับที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ การทดสอบประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์ เช่น ดูความกระจ่างใสของผิว ความชุ่มชื้นในผิว ริ้วรอยบนผิวหน้า ลดการอักเสบของสิว เพิ่มเกราะป้องกันผิว เป็นต้น


เอกสารรับรองสามารถใช้สนับสนุนข้อความที่ใช้โฆษณาเครื่องสำอางได้ รวมไปถึงใช้เป็นหลักฐานในการทำระบบมาตรฐานบางอย่าง เอกสารรับรองเหล่านี้ส่วนมากบริษัทผู้ผลิตจะเป็นผู้รับรองตนเอง ยกเว้นบางแหล่งที่มีองค์กรรับรอง เช่น เอกสารรับรองฮาลาล เอกสารไม่ทดลองกับสัตว์ เอกสารรับรองออร์แกนิก เป็นต้น

1. เอกสารการทดลองกับสัตว์ (No Animal Testing Statement/ Cruelty Free Statement)
เอกสารชี้แจงการทดลองกับสัตว์ เป็นเอกสารที่ทางผู้ผลิตยืนยันว่าสารนั้นๆ ได้ทดลองกับสัตว์หรือไม่ รวมไปถึงกระบวนการผลิตที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสัตว์ ซึ่งปัจจุบันได้มีการแบนเครื่องสำอางที่ทดลองกับสัตว์ ดังนั้นทางนักวิจัยก่อนที่จะทดลองก็ต้องตรวจดูเอกสารตัวนี้ก่อน

2. เอกสารแหล่งที่มา (Origin Statement/ Declaration of Origin)
เอกสารชี้แจงแหล่งที่มาของวัตถุดิบตั้งต้นที่ใช้ผลิตสาร เช่น สังเคราะห์ (Synthetic), เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology), ผัก (Vegetable), สัตว์ (Animal), แร่ (Mineral), พืช (Plant) รวมไปถึงประเทศที่ผลิต

3. เอกสารฮาลาล (Halal/ Halal Statement/ KOSHER Statement)
เอกสารฮาลาลมีความจำเป็นสำหรับโรงงานที่ได้รับการรับรองฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทางนักวิจัยจึงต้องตรวจสอบเอกสารรับรองฮาลาลจากทางผู้ผลิตและเก็บสำเนาเอกสารไว้เพื่อรับการตรวจสอบในทุกปี หากทางผู้ผลิตไม่ได้รับการรับรองฮาลาล จะต้องออกเอกสารชี้แจงว่าสารและกระบวนการผลิตสารไม่ได้ปนเปื้อนจากสัตว์และแอลกอฮอล์

4. เอกสารปราศจากสารก่อภูมิแพ้ (Allergen Free Certificate/ Allergens Declaration)
เอกสารรับรองว่าสารปราศจาก 26 สารก่อภูมิแพ้ เอกสารนี้ส่วนมากจะพบในกลุ่มน้ำหอม ซึ่ง 26 สารก่อภูมิแพ้มีดังนี้

  • Alpha-Isomethyl Ionone
  • Amyl Cinnamal
  • Amylcinnamyl Alcohol
  • Anise Alcohol
  • Benzyl Alcohol
  • Benzyl Benzoate
  • Benzyl Cinnamate
  • Benzyl Salicylate
  • Butylphenyl Methylpropional
  • Cinnamal
  • Cinnamyl Alcohol
  • Citral
  • Citronellol
  • Coumarin
  • D-Limonene
  • Eugenol
  • Evernia Furfuracea (Treemoss) Extract
  • Evernia Prunastri (Oakmoss) Extract
  • Farnesol
  • Geraniol
  • Hexyl Cinnamal
  • Hydroxycitronellal
  • Hydroxyisohexyl 3-Cyclohexene Carboxaldehyde
  • Isoeugenol
  • Linalool
  • Methyl 2-Octynoate


5. เอกสารปราศจากโรควัวบ้า (BSE Statement/ TSE Statement)
BSE Statement หรือ Declaration of Bovine Spongiform Encephalopathy (BSE) และ TSE Statement หรือ Transmittable Agents of Animal Spongiform Encephalopathy (TSE) Risk เอกสารรับรองว่าสารไม่ได้ปนเปื้อนโรควัวบ้า โรควัวบ้าเป็นโรคที่มีผลต่อสมองของสัตว์และคน ในบางประเทศที่เคยมีการระบาดของโรคนี้จะต้องออกเอกสารรับรองก่อนทำการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ

6. เอกสารปราศจากอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin Statement)
เอกสารรับรองว่าสารปราศจากการปนเปื้อนจากสารอะฟลาท็อกซิน อะฟลาท็อกซินเป็นสารเคมีมีพิษและก่อมะเร็งที่ผลิตจากราบางชนิด (Aspergillus flavus และ Aspergillus parasiticus) โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง

7. เอกสารรับรองฟูโรคูมาริน (Furocoumarines Statement)
เอกสารรับรองการปนเปื้อนสารฟูโรคูมาริน โดยปริมาณที่ปนเปื้อนมากับวัตถุดิบต้องน้อยกว่า 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสารฟูโรคูมารินมีการกำหนดเป็นวัตถุที่ห้ามใช้ แต่อาจมีการปนเปื้อนตามธรรมชาติในพืชตระกูลส้มบางชนิด จึงต้องมีการกำหนดปริมาณที่ปนเปื้อนไว้ ฟูโรคูมารินเป็นพิษเมื่อสัมผัสกับรังสียูวี ทำให้ผิวมีการอักเสบอย่างรุนแรง

8. เอกสารปราศจากการดัดแปลงพันธุกรรม (GMO Statement)
เอกสารที่แสดงถึงวัตถุดิบที่ใช้ในการสังเคราะห์หรือสกัด ไม่ได้มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม GMO ย่อมาจาก Genetically Modified Organisms เป็นการดัดแปลงพันธุกรรมให้ต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็น สัตว์ พืช จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ซึ่งในผู้บริโภคบางกลุ่มกลัวว่าพืช GMO จะทำลายพืชท้องถิ่น และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ จึงมีการต่อต้าน GMO

9. เอกสารปราศจากกลูเตน (Gluten Statement)
เอกสารที่รับรองว่าสารนี้ไม่ได้ปนเปื้อนกลูเตน รวมไปถึงกระบวนการผลิตและแหล่งวัตถุดิบด้วย ซึ่งในผู้บริโภคบางกลุ่มมีอาการแพ้กลูเตน ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจึงเขียนเคลมว่า ปราศจากกลูเตน หรือ ไม่มีกลูเตน 

10. เอกสารรับรองความปลอดภัยของสาร (REACH Compliance Statement)
REACH เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยสารเคมีของสหภาพยุโรป (Regulation (EC) No.1907/2006) ว่าด้วยการจดทะเบียน (Registration) การประเมินความเสี่ยง (Evaluation) การขออนุญาต (Authorization) และการจำกัดการใช้ (Restriction) สารเคมี (Chemicals) ในสหภาพยุโรป


TNP COSMECEUTICAL เราวิจัยและพัฒนาสูตรเครื่องสำอางด้วยประสบการณ์วิจัยมายาวนานกว่า 14 ปี ด้วยทักษะและความสามารถของนักวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วทันเทรนด์ใหม่ ทันใจลูกค้า สูตรตำรับพิเศษเฉพาะแบรนด์ ไม่ซ้ำใคร ทำการตลาดขายได้โดดเด่นแตกต่างจากแบรนด์อื่น อยากสร้างแบรนด์คิดถึง TNP ปรึกษาฟรี!


บทความที่เกี่ยวข้อง
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.29 การโฆษณาเครื่องสำอาง (Cosmetics Advertising) อัปเดทล่าสุดปี พ.ศ.2567
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ขายดีย่อมต้องมีการโฆษณา ซึ่งเป็นกลยุทธหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ แต่การที่จะโฆษณาเครื่องสำอางได้นั้นก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการโฆษณาเครื่องสำอาง และปัจจุบันทางกองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายได้มีการปรับปรุงคู่มือการโฆษณา ฉบับล่าสุดปี พ.ศ.2567
9 ธ.ค. 2024
Complete Guide เริ่มต้นธุรกิจสปา ตั้งแต่คิดคอนเซปจนถึงเปิดร้าน
เรียนรู้ขั้นตอนสำคัญในการวางแผนทำธุรกิจร้านสปา ตั้งแต่เริ่มต้นคิดคอนเซปต์จนถึงวันเปิดร้านวันแรก เรียนรู้เรื่องการเงิน และการตลาดสู่ความสำเร็จของธุรกิจ
26 พ.ย. 2024
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.28 ข้อควรรู้! สารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอาง
สารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอางมีอะไรบ้าง? ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อหรือเริ่มต้นสร้างแบรนด์ ใน EP.28 นี้ TNP ได้สรุปสารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอางประเภทต่างๆ มาให้แบบเข้าใจง่าย
9 ต.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ